เสวนาเรื่อง "ความคืบหน้าสถานการณ์ของสถานีอวกาศเทียนกง 1
ที่ห้องประชุม 4 อาคารวิชชั่นนาเรี่ยม ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. หรือ จิสด้า จัดเสวนาติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ของสถานีอวกาศเทียนกง 1 งานนี้ทางจิสด้าเชิญสื่อมวลชนจากหลายสำนักไปรับฟังข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 โดยจัดขึ้นที่ห้องประชุม 4 อาคารวิชชั่นนาเรี่ยม ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
สถานีอวกาศเทียนกง 1
สถานีอวกาศเทียนกง 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จากฐานปล่อยจรวดเมืองจิ่ว ฉวน มณฑลกานซู่ เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน มีความพิเศษไม่เหมือนกับยานลำอื่นๆ เพราะภายในตัวยานติดตั้งระบบการเชื่อมต่อไว้มากมาย รวมถึงเตรียมรอรับการเชื่อมต่อยานอวกาศไร้มนุษย์เสิ่นโจว 8 ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกของจีนที่จะเชื่อมต่อยานอวกาศที่เคลื่อนที่อยู่ในวงโคจร และจีนจะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหรัฐฯ และรัสเซียที่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจร และมีกำหนดว่าจะควบคุมให้กลับสู่โลกลงสู่ทะเล หรือเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ
นายอาจวรงค์ จันทมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์
นายอาจวรงค์ จันทมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า สถานีอวกาศเทียนกง 1 เป็นสถานีอวกาศของประเทศจีน ซึ่งคำว่า "เทียนกง" แปลว่า "วังแห่งสวรรค์" ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทำการทดลองต่างๆ ที่โลกไม่สามารถทำได้ ตลอดระยะเวลาในวงโคจรทำงานได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2016 ได้รับข้อมูลจากจีนว่าขาดการติดต่อ สันนิษฐานได้ 2 กรณีว่า จะกระเด็นออกไปในห้วงอวกาศ หรือ ตกลงมายังโลก โดยตอนนี้การลดระดับอยู่ที่ 160 เมตรต่อวัน แต่ทางประเทศไทยก็มีศูนย์เฝ้าระวังวัตถุอันตรายที่สามารถดูความเคลื่อนไหวของเทียนกง-1 ได้ อีกทั้งยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พร้อมกันนี้ทางการตรวจจับเรดาห์ในศูนย์ปฏิบัติการอวกาศร่วมองค์กร Joint Space Operations Center ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กองบัญชาการยุทธศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ร่วมจับตามองความเคลื่อนไหวของสถานีอวกาศเทียนกง-1 ทุกขณะ และมีข้อแนะนำกรณีที่เทียนกง-1 ตกมายังพื้นโลกแล้วว่า อย่าใช้มือหรืออวัยวะไปจับเพราะอาจมีสารอันตรายได้ แต่ทั้งนี้อย่าตระหนกไปก่อนแต่ขอให้เฝ้าระวังก็พอ
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวงโคจรของ GISTDA
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวงโคจรของจิสด้า ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ทางการประเทศจีนได้แจ้งการสูญเสียการควบคุมของสถานีอวกาศเทียนกง ความสูงของสถานีอวกาศได้ลดระดับลงมาอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดการณ์ว่าจะตกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2561 สำหรับแนวโน้มและผลกระทบในเชิงพื้นที่ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน สามารถระบุตำแหน่งที่ตกได้แน่ชัดได้ 3-4 ชั่วโมงก่อนตกกระทบสู่พื้นผิวของที่นั้นๆ ในส่วนนี้สามารถคาดการณ์พื้นที่จะตกสู่โลกในช่วงระหว่างละติจูด 43 องศาเหนือ และละติจูด 43 องศาใต้ ทั้งนี้จิสด้า ในฐานะหน่วยปฏิบัติภารกิจทางด้านอวกาศของไทย ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยทางจิสด้ามีโปรแกรมที่ใช้ติดตามความสูงของสถานีอวกาศเทียนกง รวมไปถึงความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติเพื่อติดตามการตกของสถานีอวกาศเทียนกง-1 อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ดร.สิทธิพร ฝากให้ทุกคนอย่าตื่นเต้นหรือตื่นตระหนกที่สถานีอวกาศเทียนกง-1 จะตกลงมา โดยทางจิสด้าจะจับตามองความเคลื่อนไหวและรายงานผ่านช่องทาง Fanpage Facebook : GISTDA ให้ทราบโดยทั่วกัน
------------------------------------------------
ยุพินวดี คุ้มกลัด เรียบเรียงและรายงาน
ณจักร วงษ์ยิ้ม ถ่ายภาพ