จับตาเทียนกง 1 จวนเจียนโหม่งโลกเต็มทีแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

2018-01-31 22:01:13 | CRI
Share with:

จับตาเทียนกง 1 จวนเจียนโหม่งโลกเต็มทีแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ที่สถานีอวกาศเทียนกง1 จะตกอยู่ระหว่างเส้นละติจูด 43 องศาเหนือ และละติจูด 43 องศาใต้

ที่มา : http://www.cast.cn/Item/Show.asp?m=1&d=6251

จิสด้า หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังจับตากรณีสถานีอวกาศเทียนกง 1 สถานีอวกาศแห่งแรกของจีนสูญเสียการควบคุม ซึ่งคาดว่าจะตกถึงพื้นโลกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน 2561 นี้

ที่น่าตื่นตระหนกและเป็นข่าวไวรัลไปก่อนหน้านี้ เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถระบุพื้นที่และเวลาแน่นอนที่สถานีอวกาศเทียนกง1 จะตกลงมาได้ เลยทำให้ประชาชนบนโลกวิตกกังวลและตื่นตัวกัน

จับตาเทียนกง 1 จวนเจียนโหม่งโลกเต็มทีแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

สถานีอวกาศเทียนกง1

ที่มา : http://news.ifeng.com/gundong/detail_2012_06/19/15396039_0.shtml

จากเวทีเสวนาการติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ของสถานีอวกาศเทียนกง1 ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมกราคม 2561 ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอวกาศ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญวงโคจรของจิสด้า ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ออกมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ไว้ พร้อมทั้งบอกถึงการรับมือหรือการปฏิบัติต่างๆ

จับตาเทียนกง 1 จวนเจียนโหม่งโลกเต็มทีแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวงโคจรดาวเทียม

ตำแหน่ง นักวิจัยสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวงโคจรดาวเทียม ตำแหน่ง นักวิจัยสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ในงานเสวนาว่า ตามคาดการณ์ ประมาณการตกของสถานีอวกาศเทียนกง 1 น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนเมษายน 2561 ระยะเวลาจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อความสูงของดาวเทียมต่ำลงมาเรื่อยๆ สำหรับพื้นที่ที่สามารถระบุได้ ณ ตอนนี้คือ ระหว่างละติจูด 43 องศาเหนือ และละติจูด 43 องศาใต้ หรือตั้งแต่ประเทศสเปนถึงประเทศออสเตรเลียมีโอกาสทั้งหมด ซึ่งเมื่อสถานีอวกาศเทียนกง 1 ตกลงมานั้นชิ้นส่วนจะแตกกระจายไปทั่ว จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยได้จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

"แต่ขอย้ำว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลมาก เพราะทางจิสด้าได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ณ ตอนนี้คำตอบที่เราทราบได้มากที่สุดคือ 2-3 วันล่วงหน้าว่าจะตกที่ไทยหรือไม่ และ 3-6 ชั่วโมงจะบอกชัดเจนว่าตกลงมาพื้นที่จุดไหน และทางจิสด้ามีหน้าที่แจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐทราบต่อไปถึงเรื่องจะอพยพประชาชน (ถ้าจำเป็นต้องอพยพ) ด้านการประมาณการความรุนแรงนั้น สามารถคาดการณ์ได้ว่าชิ้นส่วนที่ตกลงมาเป็นชิ้นส่วนกระจาย 10-40% ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก เปรียบเทียบได้ว่าเมื่อตกลงมาที่หลังคาบ้าน ก็อาจทำให้หลังคาทะลุเป็นรูคล้ายเหมือนมีคนตีลูกเบสบอลตกลงมาที่บ้านเท่านั้น ไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นเป็นระเบิด แต่ถ้าชิ้นส่วนเหล่านั้นตกลงมาโดนประชาชนอาจทำให้หัวแตก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ชิ้นส่วนเป็นเหล็กก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ แต่จาก 60 ปีที่ผ่านมาที่เคยมีสถานีอวกาศตกลงมาไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหนก็ตาม ยังไม่พบสถิติการเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บของประชาชน จึงขอย้ำให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวลใจ"

จับตาเทียนกง 1 จวนเจียนโหม่งโลกเต็มทีแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายอาจวรงค์ จันทมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์

ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

นายอาจวรงค์ จันทมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ให้ข้อมูลว่า สถานีอวกาศเทียนกง 1 เป็นเวอร์ชั่นแรกของสถานีอวกาศของประเทศจีน ซึ่งเราสามารถมองเห็นดาวเทียมได้จะเป็นจุดสีขาวเหมือนดาว แต่ว่าวิ่งได้ สว่างไสวแต่ไม่กระพริบ แต่ถ้าสว่างมากๆ จะเป็นสถานีอวกาศนานาชาติ

จับตาเทียนกง 1 จวนเจียนโหม่งโลกเต็มทีแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

แบบจำลองสถานีอวกาศเทียนกง 1 ของจีน

คำว่า "เทียนกง" เป็นภาษาจีน แปลว่า "วังแห่งสวรรค์" ที่จีนส่งขึ้นไปสำเร็จเมื่อเดือนกันยายน ปี 2011 เพื่อทำการทดลองต่างๆ ที่บนโลกทำไม่ได้ เช่น การทดลองสภาพไร้แรงโน้มถ่วงต่างๆ ยา การทดสอบว่ามนุษย์อวกาศเมื่ออยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงจะเป็นอย่างไร แต่ภายหลังประสบปัญหาทั้งๆ ที่ผ่านมาเทียนกง 1 ทำงานด้วยดี เชื่อมต่อกับยานลำอื่นๆ ได้ผลดีมาโดยตลอด แต่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2016 มีข่าวประกาศจากจีนว่าขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุม โดยความน่าจะเป็นมี 2 ประเด็น คือ "ไม่กระเด็นออกไปในอวกาศ ก็หลุดเข้ามายังโลก" โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เทียนกง 1 "อาจจะ" ตกลงมาได้ ค่าเฉลี่ยในการลดระดับอยู่ที่ 160 เมตรต่อวัน

เทหวัตถุที่ตกลงมาจากอวกาศลงสู่พื้นโลกในความเป็นจริงแล้ว ตกลงมาทุกวัน แต่ขนาดเล็กมากเท่าเม็ดทราย ดาวตกพวกนี้จะไม่ตกลงมาถึงพื้นโลก แต่ถ้ามีขนาดใหญ่กว่าเม็ดทราย เทียบเท่าได้ขนาดกำปั้น เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นเส้นๆ แต่ถ้าตกมามากกว่าปกติจะเรียกว่า ฝนดาวตก ถ้าเทหวัตถุสามารถตกมาได้ถึงพื้นโลกจะเรียกว่า อุกกาบาต

แต่ความน่าสนใจคือ ประเทศไทยมีโอกาสที่สถานีอวกาศเทียนกง 1 จะตกลงมาใส่ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่ที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแผนที่โลก และแผนที่โลกส่วนใหญ่เป็นน้ำมากกว่าพื้นดิน ดังนั้นโอกาสที่จะตกลงพื้นดินก็ไม่มากนัก โอกาสที่จะตกลงประเทศไทยก็น้อยลงไปอีก แต่! โอกาสน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตก!

จับตาเทียนกง 1 จวนเจียนโหม่งโลกเต็มทีแล้ว ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ผศ.ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอวกาศ

อาจารย์ประจำของสำนักวิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ผศ.ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอวกาศ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้ข้อมูลด้านกฎหมายอวกาศอย่างน่าสนใจว่า ในกรณีของสถานีอวกาศเทียนกง 1 ที่กำลังจะตกลงมานั้น เรามีสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ.1967 กำหนดไว้ว่า

1. ห้วงอวกาศเป็นเขตแดนเสรีของมวลมนุษยชาติที่ทุกประเทศสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ และทุกประเทศเสมอภาคกันไม่มีใครเป็นเจ้าของ

2. ห้ามอ้างการครอบครองพื้นที่ในห้วงอวกาศ

3. การดำเนินกิจกรรมทางอวกาศใช้ทุนสูง มีความเสี่ยงสูง และเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ ดังนั้นสนธิสัญญาอวกาศจึงมุ่งเน้นในเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ

สนธิสัญญาอวกาศนี้ประเทศไทยก็เป็นภาคีสมาชิก รวมถึงประเทศจีนด้วย ในการดำเนินกิจกรรมอวกาศกำหนดไว้ว่าให้เน้นเรื่องของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพราะกิจกรรมบนอวกาศทั้งหลายทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัญหาในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องมีกฎหมายอวกาศควบคุมเพราะทุกวันนี้ขยะอวกาศเยอะมาก และเทียนกง 1 ที่กำลังจะตกลงมาก็นับเป็นขยะอวกาศเช่นกัน เพราะอาจแตกกระจายอยู่รอบโลกทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในห้วงอวกาศ ดังนั้นกรณีเทียนกง 1 ที่กำลังจะตกทำให้ทั่วโลกจับตามองและพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในด้านกฎหมาย ถ้าเทียนกง 1 มาตกในประเทศไทย สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องแจ้งไปยังสหประชาชาติและแจ้งไปที่ประเทศจีน เนื่องจากสถานีอวกาศเทียนกง 1 เป็นของประเทศจีน และทางจีนต้องเจรจาภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติที่มีอยู่ด้วยกัน 5 ระดับ ตั้งแต่ เจรจา ไต่สวน ประนีประนอมยอมความ ใช้อนุญาโตตุลาการ ท้ายที่สุดถ้าตกลงกันไม่ได้ต้องขึ้นศาลโลก แต่ความเป็นได้มากที่สุดที่ทางจีนจะทำคือการเจรจาคลี่คลายปัญหา

แม้ว่าทางจิสด้ากำชับไม่ให้เราตื่นตระหนก แต่ถือได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว หลายคนเลยอดไม่ได้ที่จะกังวลต่อสถานการณ์นี้

แต่อย่างไรก็ตาม ทางจิสด้าย้ำว่าอย่ารีบกระต่ายตื่นตูม เพราะทางจิสด้าเองเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดและฝากให้ติดตามความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์นี้ได้ทาง Facebook Fanpage : GISTDA เพราะทุกครั้งที่มีความคืบหน้า จิสด้าจะไม่นิ่งนอนใจที่จะบอกต่อประชาชนทุกคนอย่างแน่นอน

-----------------------------------------

ยุพินวดี คุ้มกลัด เรียบเรียงและรายงาน

ณจักร วงษ์ยิ้ม ถ่ายภาพ

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

系统管理员