สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี คณะสื่อมวลชนจากสื่อหลายสำนัก เช่น สถานีวิทยุซีอาร์ไอ สำนักข่าวซินหวา และหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า เดินทางไปทำข่าวที่เขตกว่างซี เพื่อรายงานความสำเร็จของเขตกว่างซีในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง “นิคมอุตสาหกรรมชินโจว” ก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จเหล่านั้น
ขณะนี้ ระบบสาธารณูปโภค โรงงานมาตรฐาน และอาคารที่พักอาศัยได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วในหลายพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรม นายเกาผู่ แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมืองชินโจว รองประธานคณะกรรมการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจว กล่าวกับคณะสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ นิคมอุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่ช่วงที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว โครงการการลงทุนในอุตสาหกรรม และโครงการพัฒนาเมืองได้ดำเนินการควบคู่กันไป นิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจวที่จีน-มาเลเซียร่วมกันก่อตั้งขึ้นแห่งนี้กำลังค่อยๆ พัฒนาเป็นโครงการนำร่อง เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียน
นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเมืองชินโจว เมืองชายทะเลอ่าวเป่ยปู้ เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนร่วมมือกับรัฐบาลต่างชาติสร้างขึ้นเป็นแห่งที่ 3 ของจีน ต่อจากนิคมอุตสาหกรรมจีน-สิงคโปร์ที่เมืองซูโจว และเมืองนิเวศจีน-สิงคโปร์ที่นครเทียนจิน โดยเมืองชินโจวเป็นหนึ่งในสามเมืองชายทะเลอ่าวเป่ยปู้ เป็นเขตแดนที่เชื่อมต่อแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับประเทศอาเซียนด้วย จึงมีความสะดวกมากกว่าพื้นที่อื่นของจีนในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศอาเซียน
ตามแผนการพัฒนาที่กำหนดไว้ นิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจวจะบุกเบิกพัฒนาพื้นที่ขนาด 55 ตารางกิโลเมตร ช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ลงทุนไปแล้ว 13,000 ล้านหยวน ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้มีความพร้อมสำหรับรองรับการลงทุนของวิสาหกิจ โดยมีการสร้างโรงงานแบบมาตรฐาน และอาคารที่พักอาศัยในพื้นที่ขนาด 18 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 23 ตารางกิโลเมตร ภายในปลายปีนี้
นายเกาผู่ รองประธานคณะกรรมการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจวกล่าวว่า เนื่องจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว นักธุรกิจได้เข้ามาทำโครงการธุรกิจต่างๆ ในนิคมอุตสาหกกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีโครงการธุรกิจต่างๆรวมกว่า 140 โครงการ วงเงินลงทุนมีกว่าหนึ่งแสนล้านหยวน ในโครงการธุรกิจเหล่านี้ โครงการนิวไฮเทค 10 กว่าโครงการได้เริ่มทำการผลิตแล้ว เมื่อปีที่แล้ว โครงการธุรกิจนิวไฮเทคเหล่านี้มีมูลค่าการผลิตกว่า 4,000 ล้านหยวน อีกไม่นาน ยังมีโครงการธุรกิจขนาดใหญ่อีกหลายโครงการจะใช้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นที่ตั้ง เช่น โครงการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในธุรกิจโลจิสติกส์
ปีละ 150,000 คัน เชื่อมั่นว่า การเข้ามาของโครงการธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ จะช่วยกระชับความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนให้มีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
นายเกาผู่ยังกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจวเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม 6 ด้าน ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ การผลิตยารักษาโรค เครื่องจักรและอุปกรณ์ พลังงานใหม่และวัสดุใหม่ นวัตกรรมด้านวัฒนธรรม และภาคบริการยุคใหม่ ธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงพุ่งเป้าไปยังตลาดภายในประเทศจีนเท่านั้น หากยังพุ่งเป้าไปยังตลาดของประเทศอาเซียนด้วย
ยกตัวอย่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซินเต๋อลี่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิสาหกิจผู้ผลิตหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เมื่อเร็วๆ นี้ ผลิตภัณฑ์หน้าจอโทรศัพท์มือถือของบริษัทแห่งนี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากบริษัทซัมซุง ขณะนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซินเต๋อลี่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กลายเป็นผู้ผลิตหน้าจอโทรศัพท์มือถือให้แก่โรงงานของบริษัทซัมซุงในเวียดนาม และประเทศอื่นในอาเซียน
นายหลิว อี้ว์เฟิง กรรมการบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด ซินเต๋อลี่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้ว บริษัทซัมซุงลงทุนวงเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวียดนาม ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของเงินทุนต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมชินโจวห่างจากด่านตงซิง ซึ่งเป็นด่านที่ติดกับเวียดนามเพียงประมาณ 80 กิโลเมตรเท่านั้น จึงเป็นสถานที่ประกอบการที่ดีมากสำหรับบริษัทเรา เพราะเราเป็นผู้ผลิตหน้าจอโทรศัพท์มือถือให้แก่โรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือของบริษัทซัมซุงในเวียดนาม ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ยอดมูลค่าการผลิตของบริษัทซินเต๋อลี่ มีกว่า 30 ล้านหยวน และปีนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า โดยขณะนี้ ยอดมูลค่าการผลิตมีกว่า 300 ล้านหยวนแล้ว
นิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจว ยังเปิดโอกาสให้นักธุรกิจอาเซียนที่มีแผนจะบุกตลาดจีนเข้ามาทำธุรกิจที่มีความได้เปรียบ เช่น การแปรรูปรังนก การผลิตอาหารมุสลิมในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ด้วย เพื่อช่วยให้นักธุรกิจมาเลเซีย และประเทศอื่นในอาเซียนบุกตลาดจีนได้มากขึ้น นายเผย เซ่าหวา รองผู้จัดการบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด จินกู่ การลงทุน ผู้ลงทุนก่อสร้างศูนย์แปรรูปรังนกในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้กล่าวว่า ขณะนี้ มีผู้ประกอบการแปรรูปรังนกทั้งจีนและต่างประเทศรวม 10 รายเข้ามาทำธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ในจำนวนนี้ มีผู้ประกอบการจากมาเลเซีย 5 ราย หลังศูนย์แปรรูปรังนกแห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ สามารถรับบริษัทแปรรูปรังนก 50 รายเข้ามาประกอบการได้ ยอดปริมาณการแปรรูปรังนกจะอยู่ที่ประมาณ 500 ตัน มูลค่า 10,000 ล้านหยวนต่อปี
สิ่งที่นิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจวแตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรมอื่นอีกอย่างหนึ่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมคู่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่เมืองกวนตัน ประเทศมาเลเซีย
นายเกาผู่ กล่าวว่า ภายใต้ภูมิหลังการพัฒนาโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" นิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจวยังมีนิคมคู่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่เมืองกวนตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งรูปแบบความร่วมมือนี้มีชื่อเรียกว่า “สองนิคมอุตสาหกรรมสองประเทศ” โดยรัฐบาลสองประเทศจะร่วมมือกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสองแห่งนี้ โครงการ "สองนิคมอุตสาหกรรมสองประเทศ" ดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือในรูปแบบใหม่ภายใต้โครงการความร่วมมือ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"
ขณะนี้ พื้นที่ที่พัฒนาแล้วของนิคมอุตสาหกรรมเมืองกวนตันมี 14 ตารางกิโลเมตร มีวิสาหกิจกว่า 10 แห่งได้เข้ามาทำธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ โดยจีนได้ลงทุน 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อตั้งบริษัทผลิตเหล็กและเหล็กกล้าปีละ 3.5ล้านตัน และขณะนี้เริ่มทำการผลิตแล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขนาดใหญ่สุดในประเทศมาเลเซีย และมาตรการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของวิสาหกิจแห่งนี้ใช้มาตรฐานที่สูงกว่าของมาเลเซีย
ในวันข้างหน้า โครงการนี้ยังจะดึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งธุรกิจภาคบริการเข้ามาในนิคมอุตสาหกรรมกวนตันด้วย ทำให้เกิดฐานการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมกวนตัน รวมทั้งยกระดับ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าของมาเลเซียให้สูงขึ้นด้วย ขณะนี้ ทางนิคมอุตสาหกรรมกวนตันกำลังเร่งดึงธุรกิจสาขาต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมแปรรูปอลูมีเนียม และอุตสาหกรรมยางยนต์ เข้ามาในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ คาดว่า จะสามารถสร้างโอกาสการมีงานทำกว่าสองหมื่นตำแหน่งให้แก่ประเทศมาเลเซีย
ขณะนี้ รัฐบาลจีน-มาเลเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมบริหารสองนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อเร่งการพัฒนาสองนิคมอุตสาหกรรมนี้ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน- มาเลเซีย และจีน-อาเซียนในด้านต่างๆให้พัฒนาคืบหน้าไป เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว สองนิคมอุตสาหกรรมของสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนระหว่างจีน-มาเลเซีย
ก่อนที่จะสิ้นสุดการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นายเกาผู่ ชื่นชมความร่วมมือในรูปแบบ "สองนิคมอุตสาหกรรมสองประเทศ" ว่า ความร่วมมือในรูปแบบนี้ช่วยกระชับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีน-มาเลเซีย และจีนกับประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา และวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆให้ขยายขอบเขตกว้างไกลยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วย
ขั้นต่อไป ทั้งสองประเทศจะเพิ่มศักยภาพของคณะกรรมการร่วมบริหารสองนิคมอุตสาหกรรมให้สูงยิ่งขึ้น ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเมืองชินโจว และนิคมอุตสาหกรรมเมืองกวนตัน สร้างนิคมอุตสาหกรรมสองแห่งนี้ ให้เป็นโครงการความร่วมมือด้านการลงทุนที่สำคัญที่สุดระหว่างจีน-มาเลเซีย และเป็นนิคมอุตสาหกรรมสาธิตแห่งความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน
(YIM/cai)