เมื่อย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนแล้ว ประชาชนจีนทั่วไป มักจะนิยมชมภาพใบสีแดงในภาคเหนือของจีน โดยเฉพาะกรุงปักกิ่ง ส่วนสถานที่ที่พลาดไม่ได้ที่จะชมทิวทัศน์สวยงามในปักกิ่งช่วงฤดูใบไม้ร่วงนั้น ย่อมจะเป็นภูเขาเซียงซาน ที่นี่จะมีสวนพืชปักกิ่ง เป็นสวนสาธารณะแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 23 กิโลเมตร เป็นสถานที่ใช้เผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์และท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในสวนพืชทั่วประเทศจีนที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ จึงมีฐานะเป็นเขตท่องเที่ยวระดับ 4เอ เป็นฐานเผยแพร่วิทยาศาสตร์ป่าไม้ ฐานเผยแพร่วิทยาศาสตร์รักษาพืชป่า ฐานอบรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนจีน ในสวนพืชมีพืชพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 1.5 ล้านต้น กว่า 10,000 ชนิด เนื่องจากเป็นสวนพืชในภาคเหนือของจีน ตามปกติ พืชพันธุ์โดยทั่วไปจะเป็นพืชทนหนาว ฉะนั้น ในสวนพืชแห่งนี้ มีการสร้างเรือนกระจกขึ้นมา ปลูกพืชกว่า 1,500 ชนิดใน 13 เขตการแสดง รวมทั้งพืชเขตร้อนที่ล้ำค่าบางชนิด จึงเป็นฐานดำเนินวิทยาศาสตร์และศึกษาวิจัยของภาคเหนือของจีนในการวิจัยและทดสอบการนำเข้าพืชจากต่างประเทศ
นอกจากมีพืชพันธุ์นานาชนิดแล้ว ยังมีจุดท่องเที่ยวหลายแห่งที่น่าสนใจ เช่น วัดพระนอน หุบเขาเชอร์รี่ หอรำลึกเฉา เสี่ยว์ฉิน สุสานเหลียง ฉี่เชา ซากวัดหลงเจี้ยว เป็นต้น จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่ง คือ หอรำลึกเฉา เสี่ยว์ฉิน หรือบ้านเฉา เสี่ยว์ฉิน
เฉา เสี่ยว์ฉิน (1725-1763) ตอนเด็กมีชื่อว่าจัน ภายหลังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ตั้งชื่อเองว่า “เสี่ยว์ฉิน” หรือ “ฉินซี” เป็นนักวรรณคดีสมัยราชวงศ์ชิงของจีน ผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือ “หงโหลวเมิ่ง” หรือ “ความฝันในหอแดง” เขาเกิดเมื่อปีที่ 54 ของสมัยกษัตริย์คังซี ราชวงศ์ชิง ตรงกับปีค.ศ.1715 ที่เมืองนานกิง ตระกูลเฉาเป็นผู้รับผิดชอบงานปั่นทอ จึงมีฐานะดี แต่เมื่อเขาอายุ 13 ปี คุณอาของเขาติดคดีฉ้อโกงถูกจับตัวและส่งไปยังกรุงปักกิ่ง แม้ว่าไม่ได้ประหารชีวิต แต่ตระกูลเฉาก็ตกต่ำ ทั้งครอบครัวใหญ่ใช้ชีวิตในกรุงปักกิ่ง ย้ายบ้านหลายครั้ง สุดท้ายปักหลักที่ภูเขาเซียงซาน นายเฉา เสี่ยว์ฉิน ใช้ชีวิตอย่างยากจนที่บริเวณภูเขาเซียงซาน และประสบเคราะห์กรรมต่างๆ เช่น เสียภรรยาและบุตร
นายเฉา เสี่ยว์ฉิน นับเป็นนักประพันธ์ยิ่งใหญ่ของจีนในศตวรรษที่ 18 ผลงาน “ความฝันในหอแดง” ได้ประพันธ์ขึ้นในช่วงทศวรรษ 1760 เป็นวรรณคดีที่เล่าเรื่องถึงตระกูลใหญ่ของขุนนางชั้นสูง ตั้งแต่ความเจริญจนถึงความซบเซา โดยมีพระเอกเป็นร้อยคน ต่างมีเอกลักษณ์ เป็นหนังสือที่สะท้อนให้เห็นถึงคอรัปชั่นและความมืดในระบบศักดินา นายเฉา เสี่ยว์ฉินเคยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยในวัยเด็ก แต่เจอกับความล้มละลายของตระกูล จึงทำให้ชีวิตตกต่ำ เคยเป็นครูสอนเด็ก และในวัยชราก็ย้ายไปอยู่ภูเขาเซียงซานและเริ่มประพันธ์หนังสือ
เมื่อวันที่ 22 เมษายนปี 1983 นายฝู้ เจี๋ย น้องชายของกษัตริย์องค์สุดท้ายของจีน และเป็นนักศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ในเวลานั้น ได้เขียนป้าย “หอรำลึกเฉา เสี่ยว์ฉิน”สำหรับบ้านเฉา เสี่ยว์ฉินและจัดพิธีเปิดหอรำลึกอย่างเป็นทางการ นับเป็นหนึ่งในสามของหอรำลึกเฉา เสี่ยว์ฉินในประเทศจีน ส่วนอีกสองแห่งต่างตั้งอยู่เมืองนานกิงและเมืองเหลียวหยาง
หอรำลึกเฉา เสี่ยว์ฉินเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เป็นบ้านพักชั้นเดียวสไตล์ราชวงศ์ชิงที่เรียงเป็นแถว และมีลักษณะหันหน้าไปทิศใต้ กินพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร อาคารก่อสร้างมีประมาณ 300 ตารางเมตร ในพิพิธภัณฑ์ สิ่งของที่เก็บไว้ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับนายเฉา เสี่ยว์ฉิน และตระกูลเฉา ตลอดจนสิ่งจำลองของใช้ในผลงาน “ความฝันในหอแดง” เช่น ตู้เสื้อผ้าโบราณ โต๊ะโป๊ยเซียน เครื่องเซรามิก เตาเผากำยาน กุญแจเงิน เครื่องใช้ในพิธีบูชาของชนเผ่าแมนจู เป็นต้น
ในพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็น 5 ห้อง มีห้องพัก ซึ่งเป็นห้องใช้ชีวิตของนายเฉา เสี่ยว์ฉิน ห้องหนังสือ ซึ่งเป็นที่ประพันธ์หนังสือความฝันในหอแดง ห้องภาพ เก็บภาพสวยงามของธรรมชาติในบริเวณเซียงซานซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้นักประพันธ์มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ห้องเก็บเอกสาร มีข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับการค้นคว้าตระกูลเฉาและบ้านเก่าในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา ห้องแสดงศิลาจารึก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลเฉากับภูเขาเซียงซาน
ส่วนที่เป็นอาคารนั้น มีบ้านชั้นเดียวทั้งหมด 18 ห้อง แบ่งเป็น 2 แถว บริเวณนอกอาคาร เนื่องจากมีทิวทัศน์สวยงามในช่วงฤดูใบไม้ร่วง มีชื่อว่า หวงเย่ชุน หรือ หมู่บ้านใบเหลือง เป็นสถานที่ที่มีต้นไม้มากมาย มีสนามหญ้าสวยงาม บรรยากาศสงบสุข ในบริเวณหมู่บ้าน มีการจัดวางจุดท่องเที่ยวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ทั้งห้องชา ร้านเหล้า ที่นั่งหิน บ่อน้ำ โม่หินและที่ปลูกผัก เป็นต้น ทำให้นักท่องเที่ยวมีความประทับใจไม่รู้ลืม
Bo/Ping/Ping