สัปดาห์ที่แล้ว จีนกับอินเดียมีการเริ่มต้นกลไกแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมระดับสูงระหว่างจีนกับอินเดียที่เมืองหลวงอินเดีย นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในพิธีเปิดว่า การสร้างกลไกระดับสูงดังกล่าวขึ้นมานั้น เป็นความรับรู้ร่วมกันสำคัญที่บรรลุโดยประธานาธิบดีจีนและนายกรัฐมนตรีอินเดีย การเริ่มต้นกลไกดังกล่าวอย่างเป็นทางการในเวลานี้ นับเป็นมาตรการสำคัญในการผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียในทุกด้าน ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า การริเริ่มกลไกดังกล่าว ย่อมจะเป็นเวทีใหม่ให้กับการแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ เติมพลังให้กับความสัมพันธ์และความร่วมมือสองประเทศ การประชุมครั้งแรกประสบความสำเร็จด้วยดี ย่อมจะยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศขึ้นไปสู่ขั้นใหม่ และทำให้การแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมนั้นกลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมความมั่นคงของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ
อันที่จริงแล้ว จีนกับอินเดียมีความคล้ายคลึงกันในด้านวัฒนธรรมและค่านิยม เช่น แนวคิด “เป็นหนึ่งเดียวกันในโลก” ของจีนและแนวคิด “ทั่วโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน” ของอินเดีย ต่างมีใจความคล้ายกัน ซึ่งจีนเน้นแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ส่วนอินเดียมุ่งเอกภาพที่มีความหลากหลาย นายจี้ เสี้ยนหลิน นักวิชาการด้านอินเดียศึกษาที่มีชื่อเสียงเคยกล่าวว่า อารยธรรมจีนและอินเดียอยู่เคียงคู่กันเหมือนฟ้าและดิน
จีนกับอินเดีย ในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีค่านิยมและการแสวงหาผลประโยชน์ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ทั้งสองประเทศมีความเห็นตรงกันในปัญหาผลักดันการค้าเสรี โลกาภิวัตน์ การปฏิรูปองค์การการค้าโลกและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียก็ยังมีความท้าทายอยู่บ้าง ฉะนั้น ผู้นำทั้งสองประเทศจึงเห็นว่าการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมมีความจำเป็น เนื่องจากสามารถลดความเข้าใจผิด เสริมความไว้วางใจ จนมีส่วนช่วยต่อการแก้ไขปัญหา
ปัจจุบัน จุดสำคัญของเศรษฐกิจโลกกำลังย้ายมายังซีกโลกตะวันออก เอเชียเป็นพื้นที่ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจและอัตราเติบโตเร็วที่สุด การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนและอินเดียต่างสร้างความประทับใจให้กับโลก ฉะนั้น จีนกับอินเดีย มีความจำเป็นต้องจับมือเดินเคียงกันไป มังกรและช้างต้องเริงระบำไปด้วยกัน มิใช่สู้กัน
Yim/Ping/Cai