“ชุนยุ่น” ปรากฏการณ์สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีน (2)

2019-01-28 10:46:05 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_2.1

“ชุนยุ่น” หรือการขนส่งผู้โดยสารในช่วงตรุษจีนของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังตรุษจีนต่อเนื่องมายาวเกือบ 40 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 เดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติจีน ถึงวันที่ 25 เดือนอ้ายของปีถัดไป รวมแล้วประมาณ 40 วันด้วยกัน ซึ่งหนังสือพิมพ์เหรินหมินเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า “ชุนยุ่น” เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1980 ภายหลังจีนเริ่มดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นต้นมา

การเปลี่ยนแปลงประการที่สี่—ปรับจาก “สมรภูมิรบ” เป็น “ห้องพักผู้โดยสารที่แท้จริง”

เมื่อทบทวนชุนยุ่นเมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้คนยังจำภาพการขึ้นรถที่แสนลำบากได้ ผู้คนเรียกสถานีรถไฟช่วงชุนยุ่นในสมัยนั้นว่าเป็นสนามรบ เพราะมีผู้โดยสารรอขึ้นรถเต็มไปหมด พอรถไฟขบวนหนึ่งออกจากสถานี จะพบว่าที่ห้องพักผู้โดยสารมีรองเท้าของผู้โดยสารที่ถูกเหยียบหลุดอยู่เป็นจำนวนมาก 

ถ้าอากาศไม่ดี รถไฟไปไม่ได้ ผู้โดยสารของรถไฟหลายขบวนต้องตกค้างอยู่ที่สถานี ก็ยิ่งเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แต่ภาพในอดีตนี้เป็นภาพที่จินตนาการได้ยากแล้วในทุกวันนี้ เพราะบรรยากาศของสถานีรถไฟความเร็วสูงในทุกวันนี้ต่างจากสนามบินไม่มาก ผู้โดยสารส่วนใหญ่ใช้เครื่องกดรับตั๋วด้วยตนเอง แล้วนั่งดื่มกาแฟในร้านรอรถไฟของตนได้อย่างสบายใจ

图片默认标题_fororder_2.2

การเปลี่ยนแปลงประการที่ห้า—อาหารการกินบนรถไฟ

ในอดีต การรับประทานอาหารบนรถไฟเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เตรียมอาหารกันเอง อาหารที่เตรียมไว้ที่พบได้บ่อยที่สุดคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง แป้งโรตี หมั่นโถวหรืออาหารกล่องที่ทำเอง ต่อมาบนรถไฟเริ่มมีพนักงานใช้รถเข็นขายอาหารกล่อง แต่ก็มีให้เลือกไม่กี่อย่าง

ทุกวันนี้ อาหารกล่องบนรถไฟมีหลากหลายแบบ ราคาตั้งแต่ชุดละ 15 - 80 หยวน นอกจากอาหารกล่องแล้ว ยังสามารถสั่งอาหารทางอินเตอร์เน็ตบนรถไฟได้อีกด้วย เพราะระหว่างทางจะมีสถานีรถไฟต่างๆ ให้ผู้โดยสารสามารถสั่งอาหารจากร้านอาหารแถวสถานีรถไฟได้ ซึ่งพอถึงสถานี พนักงานของร้านอาหารที่คุณสั่งนั้นก็จะส่งอาหารให้พนักงานสถานีรถไฟ และพนักงานสถานีรถไฟก็จะนำอาหารมาส่งให้ถึงที่นั่งเลย

ซึ่งร้านอาหารก็มีให้เลือกมากมาย นอกจากร้านฟาสต์ฟู้ด เช่น  KFC แล้ว ยังสามารถสั่งอาหารพื้นเมืองของท้องที่ต่างๆ ได้อีกด้วย เพียงแค่ใช้บริการผ่านแอพฯ ก็สามารถเลือกอาหารที่ต้องการและชำระเงินผ่านมือถือได้อย่างง่ายดาย

การเปลี่ยนแปลงประการที่หก—จาก “กระเป๋าหนักหลายใบ” เป็น “ส่งพัสดุถึงบ้าน”

เมื่อถึงตรุษจีน ผู้คนก็จะเตรียมของขวัญกลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้องกัน ในอดีต ภาพที่พบได้บ่อยที่สุดในช่วงชุนยุ่นก็คือมือหนึ่งจูงลูก อีกมือหนึ่งต้องถือกระเป๋าหลายใบ และบนหลังยังต้องแบกสัมภาระใบใหญ่อีกด้วย ภายในกระเป๋าก็มีทั้งเสื้อผ้า ผ้าห่ม ของกินของใช้เต็มไปหมด เหมือนกับกำลังย้ายบ้าน ทุกวันนี้ ผู้คนเอากระเป๋าไปน้อยลงและเล็กลง

ด้านหนึ่งเพราะว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทลดลง ของที่เมื่อก่อนซื้อได้ในเมืองเท่านั้น ก็สามารถหาซื้อที่ชนบทได้เหมือนกัน และอีกด้านหนึ่ง อีคอมเมิร์ชที่พัฒนาอย่างรวดเร็วก็ช่วยได้มาก ทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะเลือกของขวัญทางอินเตอร์เน็ตแล้วส่งพัสดุถึงบ้าน คือก่อนที่ตนเองจะเดินทางถึงบ้าน ของขวัญก็เดินทางไปถึงคนที่บ้านก่อนแล้ว สถิติแสดงว่า ช่วงชุนยุ่นปีที่ผ่านมา จีนมีการส่งพัสดุ 100 ล้านชิ้น และมี 60% เป็นของขวัญตรุษจีน

การเปลี่ยนแปลงประการที่เจ็ด—จาก “กลับบ้านเกิด” เป็น “ไปท่องเที่ยว”

จีนมีสำนวนว่า “ไม่ว่ารวยหรือจนก็ต้องกลับบ้านฉลองตรุษจีน” และ “ไม่ว่าการเดินทางจะลำบากอย่างไรก็ต้องกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่” แต่หลายปีมานี้ การพาครอบครัวไปท่องเที่ยวฉลองตรุษจีนกลายเป็นกระแสใหม่

คนจีนทางเหนือเลือกไปเที่ยวเมืองทางใต้เพื่อหนีหนาว ส่วนคนทางใต้ก็จะขึ้นเหนือไปเที่ยวชมหิมะเล่นน้ำแข็ง และคนจีนที่พาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปี 2018 ที่ผ่านมา ช่วงตรุษจีน ชาวจีนที่เที่ยวต่างประเทศมีกว่า 6 ล้านคน และประเทศที่ไปเที่ยวนั้นมีกว่า 60 ประเทศ ที่ไกลที่สุดเดินทางไปถึงโซนขั้วโลกใต้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงประการที่แปด—ไฮเทคทำให้การเดินทางสบายยิ่งขึ้น

ในอดีตคนจีนจะรู้สึกว่าการนั่งเครื่องบินมีเรื่องลำบากอย่างหนึ่งคือ เล่นเน็ตไม่ได้ แต่เมื่อเร็วๆนี้ สายการบินบางแห่งของจีนเริ่มอนุญาตให้ใช้มือถือเล่นเน็ตบนเครื่องบินได้แล้ว ซึ่งสายการบินใหญ่ๆของจีนหลายแห่งไม่ได้คิดค่าสัญญาณวายฟายบนเครื่องบินด้วย  

นอกจากนี้ การใช้บริการที่สถานีรถไฟก็ได้ใช้ระบบไฮเทคต่างๆมาช่วยแล้ว คือผู้โดยสารใส่ตั๋วรถไฟและบัตรประชาชนเข้าเครื่อง แล้วกล้องก็จะสแกนหน้าของผู้โดยสาร พอตรวจสอบว่าข้อมูลตั๋วและบัตรประชาชนกับตัวบุคคลตรงกัน ประตูเข้าสถานีก็จะเปิดโดยอัตโนมัติ แต่ระบบไฮเทคนี้ก็ยังมีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง เพราะหากทำศัลยกรรม หรือเปลี่ยนทรงผมก็อาจจะยืนยันข้อมูลไม่ได้ และเปิดประตูไม่ได้

และเพื่อประกันความปลอดภัยของผู้โดยสาร ตำรวจก็ได้นำความไฮเทคมาช่วยงาน อุปกรณ์ไฮเทคนี้คือ “แว่นตาอัจฉริยะ” พอตำรวจใส่แว่นตาแบบนี้แล้วจะสามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ที่เดินผ่านไปมานี้เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ หรือไม่ ซึ่งการใช้แว่นตาแบบนี้ตามสถานีรถไฟในช่วงชุนยุ่น ทำให้การเดินทางของผู้คนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

(Yim/cici)

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)

韩希