ตรุษจีนของกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน (1)

2019-02-12 14:33:09 | CRI
Share with:

เทศกาลตรุษจีน หรือ “ชุนเจี๋ย” คือเทศกาลปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ชาวจีนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวจีนชนเผ่าฮั่น มีประวัติการฉลองเทศกาลตรุษจีนกว่า 4,000 ปี เมื่อกล่าวถึงประเพณีต่าง ๆ ในการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนแล้ว เรามักนึกถึงกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เช่น การติดตัวอักษรจีน “福” (ฝู) ซึ่งมีความหมายว่า ความสุข ความสมบูรณ์ ความเป็นสิริมงคล และวาสนา นอกจากนี้ ยังถือเป็นคำมงคลที่ชาวจีนนิยมใช้มากที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน บางโอกาส ชาวจีนมักจะติดตัว “福” กลับหัวบนประตู ผนัง หรือหน้าต่าง โดยจะพูดว่า “ 福倒了” ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงของ “福到了” ในภาษาจีนที่แปลว่า สิริมงคลรวมไปถึงความสุขทั้งหลายได้มาถึงแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเพณีการติดกลอนคู่สีแดงบนประตู หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า “ชุนเหลียน” การติดกลอนคู่สีแดงเช่นนี้ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่สืบทอดและพัฒนามาจากการติด “ยันต์ไม้ท้อ” หรือ桃符 (เถาฝู)  ในศาสนาเต๋าในสมัยโบราณ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขอให้เทพเจ้าแห่งประตูช่วยปกป้องครอบครัว  ขับไล่ภูติผีปีศาจไม่ให้มาทำลายบ้านเรือน

图片默认标题_fororder_1

จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมเขียนคำอวยพรลงบนกระดาษสีแดง ซึ่งก็คือกลอนคู่นั่นเอง การติดกลอนคู่สองข้างประตูหน้าบ้านมีความหมายว่า ออกจากประตูบ้านให้เด่นดัง เมื่อเงยหน้าก็พบกับความสุข เป็นการแสดงถึงบรรยากาศของความร่าเริง ความกลมเกลียว และสิริมงคลในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้  ยังมีการติดภาพวาดสิริมงคลบนประตู ประดับกระดาษตัดลวดลายบริเวณหน้าต่าง การแจกอั่งเปา การทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา การกินเกี๊ยว และการ “เฝ้าปี” หรือเรียกในภาษาจีนว่า โส่วซุ่ย (守岁) คือการเฝ้าดูปีเก่าผ่านล่วงไปจนถึงวันปีใหม่ สรุปได้ว่า ชาวจีนมีธรรมเนียมปฏิบัติอันหลากหลายในการฉลองเทศกาลตรุษจีน

อย่างไรก็ตาม ประเพณีต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ส่วนใหญ่ถือเป็นประเพณีของชาวจีนชนเผ่าฮั่น ที่มีสัดส่วนสูงถึง 91% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ การที่ประเทศจีนประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยอีก 55 ชนเผ่า ซึ่งมีประชากรราว 120 ล้านคน ทำให้แต่ละชนเผ่ามักจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีลักษณะพิเศษของตนเอง วันนี้ เราจะนำเสนอประเพณีการฉลองเทศกาลตรุษจีน หรือประเพณีการต้อนรับปีใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศจีน  โดยจะคัดเลือกชนเผ่าที่มีประชากรมากกว่า 6 ล้านคนมานำเสนอดังต่อไปนี้

ชนเผ่าจ้วง มีประชากรราว 17 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดของจีน ส่วนใหญ่ชาวเผ่าจ้วงอาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี เทศกาลตรุษจีนของชนเผ่าจ้วงมีถึง 3 วัน คือ วันส่งท้ายปีเก่า วันขึ้น 1 ค่ำ และวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติ โดยในวันส่งท้ายปีเก่าสมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันหุงข้าว เตรียมกับข้าวหลายอย่าง เช่น ไก่ เป็ด หมูฮ้อง และหมูแดง ไก่สับถือเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารที่มีผู้สูงอายุในครอบครัวร่วมทานอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมขาหมูตุ๋นและไก่ตุ๋น ขณะเดียวกัน อาหารในวันส่งท้ายปีเก่า ต้องเตรียมในปริมาณมากเพื่อบ่งบอกว่า ปีใหม่นี้ครอบครัวจะมั่งคั่ง  สำหรับอาหารของมื้อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย  ชาวเผ่าจ้วงจะมีธรรมเนียมว่าจะต้องทำให้เสร็จภายในวันส่งท้ายปีเก่า ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ และมีเหลือกินเหลือใช้ในปีใหม่

เมื่อถึงเช้าวันแรกของปีใหม่ หรือวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย ที่ชาวจีนเรียกว่า “ต้า เหนียน ชู อี” ทุกครอบครัวจะต้องเปลี่ยนน้ำในอ่างน้ำ โดยน้ำที่เปลี่ยนต้องต้มให้เดือด ใส่น้ำตาล ใบไผ่ ต้นหอมสับ และขิง ทำเป็นชาปีใหม่ ชาวเผ่าจ้วงเชื่อกันว่า “ชาปีใหม่” นี้จะนำความโชคดีและความราบรื่นมาสู่ครอบครัว

图片默认标题_fororder_2

บ๊ะจ่าง ถือเป็นอาหารสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวเผ่าจ้วงในเทศกาลตรุษจีน บ๊ะจ่างของชาวเผ่าจ้วงมีหลายชนิด ชิ้นเล็กมีน้ำหนักประมาณครึ่งชั่ง ส่วนชิ้นใหญ่มีหนักถึงหนึ่งกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีบ๊ะจ่างชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โม่เฟิ่ง” เป็นบ๊ะจ่างขนาดใหญ่มาก หนักถึงสิบกิโลกรัม สิ่งที่น่าสังเกต คือ แม้ว่าบ๊ะจ่างจะเป็นอาหารสำคัญของชาวเผ่าจ้วง แต่พวกเขาก็ไม่กินบ๊ะจ่างในคืนวันส่งท้ายปีเก่า โดยต้องคอยถึงให้ผ่านวันขึ้นปีใหม่ไปสองวัน เมื่อมีแขกมาเยี่ยม พวกเขาจึงจะนำบ๊ะจ่างมาเลี้ยงต้อนรับแขก แสดงให้เห็นถึงการต้อนรับอย่างสูงและอบอุ่นตามแบบฉบับของชาวเผ่าจ้วง ด้านการละเล่นต่าง ๆ ของชาวเผ่าจ้วงในช่วงเทศกาล ก็มีความหลากหลายเช่นกัน อย่างการร้องเพลงโต้ตอบ การเล่นลูกข่าง การเต้นรำ และการละเล่นอื่น ๆ

ชนเผ่าแมนจู ชนเผ่านี้มีประชากรกว่า 10 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่อันดับสองของจีน ปัจจุบัน ชาวแมนจูส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลเหลียวหนิง จี๋หลิน เฮยหลงเจียง เหอเป่ย และกรุงปักกิ่ง วัฒนธรรมของชนเผ่าแมนจูได้รับอิทธิพลจากชนเผ่าฮั่นค่อนข้างมาก ดังนั้น ประเพณีการฉลองเทศกาลตรุษจีนของชาวแมนจูจึงมีความคล้ายคลึงกับชาวฮั่นอยู่บ้าง เช่น การติดกลอนคู่ การประดับกระดาษตัดเป็นลวดลายที่หน้าต่าง และการเชิญเทพเจ้าแห่งประตู  นอกจากนี้แล้ว ชาวแมนจูจะแขวงธงตามสีธงประจำตระกูล กล่าวคือ ชาวแมนจูแบ่งธงออกเป็นแปดกอง ธงเป็นกองกำลังทหารในสมัยราชวงศ์ชิง ตามประวัติศาสตร์จีน เป็นการบริหารและวางกำลังเพื่อออกรบของราชวงศ์ชิง โดยผู้ที่สถาปนากองทัพนี้คือ จักรพรรดินู่เอ่อร์ชื่อ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ แบ่งสัญลักษณ์เป็นธงที่มีสีสันต่าง ๆ แตกต่างออกไป และเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันเมืองหลวง การจัดกำลังทหารออกเป็น 8 ส่วนนี้ จะใช้ผู้คุมกำลังทหารที่มีความสัมพันธ์หรือเป็นญาติในตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัว ซึ่งเป็นตระกูลของจักรพรรดิและราชวงศ์ชิง ดังนั้น ตระกูลใหญ่ ๆ 8 ตระกูลจึงมีสีธงประจำตัวสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ บนธงมีตัวอักษร “福” ปักไว้ แสดงให้เห็นถึงการหลอมรวมเข้าด้วยกันของวัฒนธรรมชนเผ่าฮั่นและชนเผ่าแมนจู

图片默认标题_fororder_3

เมื่อถึงตอนบ่ายวันส่งท้ายปีเก่า ชนเผ่าแมนจูทุกครอบครัวจะจัดโต๊ะเซ่นไหว้บรรพบุรุษ อาหารที่นำมาเซ่นไหว้กำหนดไว้คือต้องมีหมู ปลาหลีฮื้อ ขนมทอดท้องถิ่นที่ชื่อว่า “จ๋าเฝิ่นฮวา” ต้นหอมใหญ่ และเต้าหู้ หลังเสร็จพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษแล้ว สมาชิกครอบครัวจะแบ่งอาหารเซ่นไหว้มาทานให้หมด โดยเชื่อว่า เมื่อกินของเซ่นไหว้แล้ว บรรพบุรุษจะอวยพรให้ลูกหลานมีความสุข มีชีวิตราบรื่น

เที่ยงคืนวันส่งท้ายปีเก่า ทุกบ้านจะต้องกินเกี๊ยว เวลาห่อเกี๊ยวจะใส่เหรียญเงินเข้าไปในไส้เกี๊ยวสักสามสี่ชิ้น ใครโชคดีทานเกี๊ยวแล้วพบเหรียญเงินจะถือว่าเป็นคนที่โชคดีตลอดปี หลังจากทานเกี๊ยวเสร็จแล้ว ก็จะถึงการจุดประทัดส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับเทพเจ้า อีกทั้งยังต้องแขวนโคมไฟสีแดงไว้ที่สูงตลอดคืน เมื่อย่างเข้าสู่วันรุ่งขึ้น เช้าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ชาวแมนจูทุกครอบครัวจะตื่นแต่เช้า ใส่เสื้อผ้าใหม่ และทักท้ายอวยพรปีใหม่แก่กัน หากเป็นสมัยก่อน หญิงชาวแมนจูต้องคอยหลังวันขึ้น 6 ค่ำ เดือนอ้าย ถึงจะสามารถออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมญาติพี่น้องเพื่อนฝูงได้

ชนเผ่าม้ง มีประชากรในประเทศจีนราว 9 ล้าน 5 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลหูหนาน กุ้ยโจว และเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงของจีน เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ชาวเผ่าม้งจะเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ชนเผ่าม้งก็มีปฏิทินเฉพาะของตนเอง ดังนั้น เทศกาลปีใหม่ม้งถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่สุด และชนเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ จะมีเทศกาลปีใหม่ม้งไม่เหมือนกัน โดยปกติแล้วเทศกาลปีใหม่ม้งจะอยู่ราวเดือน 9 ถึงเดือนอ้ายของปีถัดมา กินเวลา  3 -15 วัน  ชนเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ในอำเภอหรงสุ่ย เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี จะนับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันถัดมาเป็นวันปีใหม่ โดยการจัดเทศกาลปีใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถือเป็นที่นิยมส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ปี ค.ศ. 2008 เทศกาลปีใหม่ม้งยังถูกขึ้นทะเบียนในรายชื่อมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีนอีกด้วย

图片默认标题_fororder_4

เทศกาลปีใหม่ม้ง ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวม้งเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว ซึ่งถือว่า ภาระหน้าที่การงานต่าง ๆ ได้เสร็จสิ้นไปหมดแล้ว ความรื่นเริงกำลังจะเริ่มต้น ชาวเผ่าม้งจะจัดกิจกรรมเป่าเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “หลูเซิง”  โดยคนในทุกหมู่บ้านจะไปมาหาสู่กันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้แล้ว กิจกรรมสำคัญในเทศกาลปีใหม่ของชนเผ่าม้งยังมีการฆ่าหมูที่เลี้ยงไว้ การทำขนมข้าวเหนียว การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และการแข่งขันร้องเพลง

ชนเผ่าม้งเป็นชนเผ่าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น ชาวม้งมีประเพณีอย่างหนึ่ง คือ หากบ้านใครมีแขกมาเยี่ยม ทุกครอบครัวภายในหมูบ้านต้องร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงหมุนเวียนกัน ส่วนแขกก็อย่ารู้สึกเกรงใจและไม่ไปร่วมงานเลี้ยง เพราะจะถือว่าดูถูกเจ้าของบ้าน ดังนั้น จะต้องไปกินข้าวที่บ้านของทุกครอบครัวจนหมด ถึงจะสามารถลาจากเจ้าของบ้านได้ หมู่บ้านใดที่มีแขกมาร่วมงานเลี้ยงนานที่สุดจะรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่ยกย่องของหมู่บ้านอื่น ๆ ทำให้ชายหนุ่มจากหมู่บ้านนี้เมื่อไปจีบสาว ก็มักจะง่ายว่าชายหนุ่มจากหมู่บ้านอื่น

(Tim/Zi)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-04-2567)

郑元萍