เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบปะคณะผู้แทนกลุ่มเดอะเอลเดอร์ส(The Elders) ที่กรุงปักกิ่ง โดยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่เกี่ยวพันถึงเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ของโลก ประเทศใหญ่ต่างมีความรับผิดชอบพิเศษของตน ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญของโลก หวังว่า ทั้งสองประเทศสามารถเดินเข้าหากัน ควบคุมและบริหารความขัดแย้งกัน และขยายความร่วมมือ เพื่อร่วมพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยึดถือการประสานงาน ความร่วมมือ และความมั่นคงเป็นพื้นฐาน พร้อมเสริมสร้างเสถียรภาพและความหวังมากยิ่งขึ้นให้แก่โลก
จากคำบรรยายของปธน.สี จิ้นผิง ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ เมื่อเร็วๆนี้จะพบว่า คำว่า “ความรับผิดชอบ” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้ง เนื่องเพราะจีนและสหรัฐฯ ในฐานะประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในฐานะเป็น 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตมโหฬารถึง 40% ของโลก ต่างมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก พิทักษ์สันติภาพระหว่างประเทศ และรับมือกับการท้าทายต่างๆ ของโลก
จีน-สหรัฐฯ มีความรับผิดชอบในการแบกรับพันธกรณีทางประวัติศาสตร์ที่จะนำร่องการควบคุมและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ของโลกและอำนวยโอกาสการพัฒนาของโลก ไม่ควรเพียงแต่ใฝ่หาการพัฒนาก่อนใครอื่นของประเทศตน จีนกับสหรัฐฯ มีความแตกต่างกันในด้านระบอบ วัฒนธรรม และขั้นตอนการพัฒนา สองประเทศเรามีความขัดแย้งกันดำรงอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติ ตัวอย่างเช่น ด้านเศรษฐกิจการค้า ถึงแม้ว่าสองประเทศได้ก่อรูปความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่อำนวยประโยชน์แก่กัน ได้รับชัยชนะร่วมกัน มีส่วนเกื้อกูลกันอย่างมาก และมีผลประโยชน์ผสมผสานกันอย่างลึกซึ้งก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศเราก็มีความสลับซับซ้อนอีกด้วย ทุกวันนี้ ห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่การผลิตของโลกมีส่วนเกาะเกี่ยวประสานกันอยู่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจการค้าโดยผ่านการเพิ่มภาษีหรือเพิ่มการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะขัดขวางการเติบโตของเศรษฐทั้งสองประเทศ ตลอดจนเศรษฐกิจโลก
ด้วยเหตุนี้ ปธน.สี ตอกย้ำว่า ความร่วมมือเป็นการเลือกสรรที่ดีที่สุดของทั้งสองฝ่าย การรักษาให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ พัฒนาด้วยดีและมั่นคงนั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ และเป็นความปรารถนาของประชาคมโลกอีกด้วย
จีนในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันยังมีสัดส่วนประชากรยากจนจำนวน 16,600,000 คน แต่จีนก็ยังยินดีร่วมแบกรับความรับผิดชอบทางสากล และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ส่วนสหรัฐฯ ในฐานะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีความเหนือกว่าด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการทหาร ยิ่งควรแบกรับความรับผิดชอบอันพึงมีของประเทศใหญ่ ขณะนี้ การปรึกษาหารือกันทางเศรษฐกิจและการค้าระดับสูงระหว่างจีน-สหรัฐฯ รอบที่ 9 กำลังดำเนินอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ทั้งสองประเทศต่างควรควบคุมและบริหารความขัดแย้งกัน และขยายความร่วมมือในการหารือกันครั้งนี้ เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับทั่วโลก
(Yim/Zhou/Zhou)