“หนุ่มพิการสู้ชีวิต” เปิดบริษัท 5 แห่งและช่วยเหลือคนอื่นนับไม่ถ้วน

2019-07-10 13:05:55 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_20190710a

ในความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ คนพิการคงเป็นกลุ่มคนที่ยุ่งยากลำบากในการดำรงชีวิตและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากคนอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีคนพิการจำนวนหนึ่ง กลับเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่คนอื่นมาตลอดด้วย นายซ่ง เว่ยจุน เป็นบุคคลในกลุ่มนี้ ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็น “คนดีที่อยู่รอบข้าง” จากสำนักงานอารยธรรมเมืองไท่หยวน มณฑลซันซี โดยเขาไม่เพียงแต่เปิดบริษัทเป็นของตน 5 แห่งเท่านั้น ยังช่วยเหลือคนพิการอื่นๆในการบุกเบิกธุรกิจด้วย

นายซ่ง เว่ยจุน เกิด ค.ศ. 1970 พ่อแม่เป็นคนงานในโรงงานเครื่องจักรกลเมืองไท่หยวน ซึ่งตอนที่เขาอายุได้ 2 ขวบกลับไม่สามารถยืนได้ โดยเขากับน้องสาวถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อลีบชนิดคืบหน้า(PMA:Progressive Muscular Atrophy )ทั้งสองคน ตอนนั้นหมอบอกว่า เขายากที่จะมีชีวิตเกินอายุ 18 ปี

ซ่ง เว่ยจุนเล่าว่า เขาในตอนเด็กไม่เข้าใจว่าการป่วยเป็นโรคนี้หมายถึงอะไร รู้แต่ว่า ร่างกายของตัวเองไม่มีแรง ต่างกับเด็กคนอื่น ตอน 6 ขวบ ซ่ง เว่ยจุนมองเห็นเด็กคนอื่นๆ แบกกระเป๋าไปเข้าโรงเรียนทุกวัน จึงบอกกับแม่ว่า อยากไปเข้าโรงเรียนเช่นกัน แม่จึงร้องไห้อย่างโศกเศร้า จากนั้น ซ่ง เว่ยจุนเข้าใจแล้วว่า ตัวเองไม่สามารถเข้าโรงเรียนอย่างเด็กทั่วไปได้ และก็ไม่เคยมีข้อเรียกร้องเช่นนี้กับพ่อแม่อีก แต่เพราะเขาเป็นคนที่รักเรียน พ่อกับแม่ก็ได้สอนให้ซ่ง เว่ยจุนรู้จักตัวหนังสือตั้งแต่เด็ก เขายืนหยัดการอ่านหนังสือและศึกษาตำราเรียนระดับประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัยที่บ้านด้วยตนเองมาตลอด

ต่อจากนั้น ซ่ง เว่ยจุนมีความสนใจด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จึงเริ่มศึกษาความรู้ด้านการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตนเอง หลังจากซ่อมเครื่องวิทยุด้วยตนเองได้เป็นผลสำเร็จ เขาคิดว่า คงสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้โดยอาศัยฝีมือดังกล่าว แต่ต่อจากนั้นไม่นาน อาการของโรคที่เขาเป็นกลับเลวร้ายลงอีก เขาเหลือเพียงมือขวามือเดียวที่สามารถทำงานเป็นปกติได้

ช่วงนั้น ซ่ง เว่ยจุนมีอารมณ์เศร้าโศกทุกวัน แต่ไม่เคยหยุดการฟันฝ่าต่อสู้กับชะตาชีวิตของตน เขาเคยขายของแบกะดินเพื่อหารายได้ และฝึกเขียนบทความที่บ้าน ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละ บทความและภาพการ์ตูนของเขาได้รับการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารหลายฉบับ และยังได้รับรางวัลผลงานดีเด่นระดับมณฑลกว่า 10 ครั้งด้วย

ช่วงที่เขียนบทความที่บ้าน ซ่งเว่ยจุนเคยได้รับจดหมายจากผู้อ่านของเขาจำนวนหนึ่ง รวมถึงผู้อ่านคนพิการที่มีความเศร้าและท้อแท้ในชีวิต ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ซ่งเว่ยจุนก็ตระหนักว่า สุขภาพทางจิตของผู้พิการมีความสำคัญกว่าสุขภาพร่างกายอีก ผู้พิการต้องการความใส่ใจทั้งกายและใจ ซ่ง เว่ยจุนจึงตั้งใจให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้พิการเหล่านี้ เมื่อปี 1996 เขาสมัครเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาจิตแพทย์ของสถาบันวิทยาศาสตร์จีนเป็นผลสำเร็จ และได้รับความรู้ด้านการให้คำปรึกษาและการรักษาทางจิตแพทย์

หลังจากจบการศึกษาแล้ว ซ่ง เว่ยจุนตั้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน เพื่อให้บริการปรึกษาทางจิตแก่ผู้พิการโดยเฉพาะ จากนั้น บริการทางโทรศัพท์ดังกล่าวของซ่งเว่ยจุนมีชื่อเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเบอร์โทรให้บริการทางจิตสำหรับผู้พิการที่โด่งดังทั่วประเทศจีน แม้จะยุ่งกับการรับโทรศัพท์ทั้งวัน แต่ซ่งเว่ยจุนรู้สึกชื่นใจและมีความสุขกับการให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์จริงแก่คนอื่นนี้

ขณะที่มีชื่อเสียงโด่งดังในกิจการช่วยเหลือผู้พิการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ่ง เว่ยจุนเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่คือ “ช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการในการหางานทำ”

เมื่อปี 2001 ซ่ง เว่ยจุนรวบรวมเงินทุนจากหลายฝ่ายและตั้งบริษัท “หวา อี้ ทง” ขึ้น เป็นบริษัทที่ให้บริการออกแบบเว็บไซต์และผลิตโฆษณาทางเน็ตแก่ลูกค้า ขณะเดียวกัน ยังให้การอบรมแก่ผู้พิการที่หวังจะทำงานอินเตอร์เน็ตโดยไม่คิดค่าตอบแทน เขาบอกว่า แม้ร่างการของผู้พิการส่วนใหญ่สู้คนทั่วไปไม่ได้ แต่ก็มีสติปัญญาไม่ต่างกับคนธรรมดาทั้งหลาย การทำงานด้านอินเตอร์เน็ตจึงไม่เสียเปรียบกับคนทั่วไป

图片默认标题_fororder_20190710b

ซ่ง เว่ยจุนไม่เพียงแต่พยายามช่วยพนักงานผู้พิการในการเพิ่มความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน หากยังให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพทางจิตของผู้คนเหล่านี้ด้วย เขานำพนักงานผู้พิการ 10 กว่าคน ไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมสุขภาพทางจิตของมณฑลซันซี และยังเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งคณะกรรมการบริการสุขภาพทางจิตผู้พิการมณฑลซันซี เพื่อแก้ปัญหาทางจิตแก่กลุ่มพิการทั้งหลายอีกด้วย

ขณะที่กิจการของเขาขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ่ง เว่ยจุนก็กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงการบุกเบิกธุรกิจ ปี 2014 ซ่ง เว่ยจุนรับเชิญไปกล่าวบรรยายที่โรงเรียนมัธยมเขตชนบทแห่งหนึ่ง สิ่งที่ทำให้เขาคาดคิดไม่ถึงคือ ผู้พิการในชนบทรอบข้างก็พากันมาฟังการบรรยายของเขาด้วย จนทำให้สถานที่จัดบรรยายไม่มีแม้ที่จะยืน เมื่อมองเห็นสภาพเช่นนี้ ซ่ง เว่ยจุนน้ำตาไหล เพราะเขาได้เห็นว่าผู้พิการที่เข้มแข็งและหวังจะดำรงชีวิตด้วยลำแข็งของตัวเองมีจำนวนมากขนาดนี้ ซ่ง เว่ยจุนจึงมีความตั้งใจมากยิ่งขึ้นอีก ที่จะช่วยเหลือผู้พิการจำนวนมากขึ้นให้พ้นจากความยากจน

จากนั้น ซ่ง เว่ยจุนขยายขอบเขตการอบรมช่วยเหลือผู้พิการที่ยากจนไปถึงเขตอื่นๆของเมืองไท่หยวนและอำเภออีก 4 แห่ง และเขามักจะไปเยี่ยมเยือนผู้พิการยากจนในเขตชุมชนและชนบทต่างๆ ช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะได้ดำรงชีวิตด้วยลำแข้งของตัวเอง ซ่ง เว่ยจุนเล่าว่า เมื่อไปถึงแต่ละหมู่บ้าน จะต้องพักอยู่ที่นั้นอย่างน้อย 5 วัน เพราะต้องสอนเทคนิคหรืออบรมฝีมือให้กับผู้พิการเหล่านี้อย่างละเอียด ที่รวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการทำขนมบางชนิด เป็นต้น การอบรมดังกล่าวจะดำเนินการตามสภาพที่เป็นจริงของผู้พิการแต่ละครอบครัวในท้องถิ่น

จนถึงปี 2016 ทีมงานของนายซ่ง เว่ยจุนได้ให้การอบรมช่วยเหลือแก่ผู้พิการยากจนในเมืองไท่หยวนกว่า 30,000 คน อบรมผู้พิการในอำเภออื่นๆกว่า 2,300 คน และช่วยเหลือผู้พิการในการหางานทำอีกกว่า 500 คน

เมื่อปี 2016 ซ่ง เว่ยจุนเปิดร้านอาหารชื่อ “สือ เค่อ ตัง เจีย” เป็นร้านสุกี้ที่จ้างผู้พิการเป็นบริกร และเป็นร้านอาหารที่เปิดขึ้นโดยการรวบรวบเงินทุนจากผู้พิการแห่งแรกในเมืองไท่หยวน ซ่ง เว่ยจุนหวังจะให้ผู้พิการที่ไม่มีทักษะฝีมือพิเศษสามารถมีงานทำและได้รายได้ที่มั่นคงในร้านอาหารเช่นนี้

เพื่อสร้างโอกาสการบุกเบิกธุรกิจแก่ผู้พิการมากยิ่งขึ้น ซ่ง เว่ยจุนยังก่อตั้งบริษัทบริการแม่บ้านเจียฝูเล่อซันซีจำกัด เพื่ออบรมฝึกสอนผู้พิการให้มีความรู้ความสามารถด้านบริการแม่บ้าน ในบรรดาผู้พิการที่เคยได้รับการอบรมดังกล่าว มีจำนวนไม่น้อยได้รับรางวัลจากการประกวดฝีมือบริการแม่บ้านเมืองไท่หยวน

ปัจจุบัน ซ่ง เว่ยจุน ผู้พิการที่เคยถูกประมาณการว่าคงอยู่ไม่เกิน 18 ปี ไม่เพียงแต่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท 5 แห่ง โดยอาศัยเพียงมือขวามือเดียวและเก้าอี้เข็น 1 คัน หากยังช่วยเหลือผู้พิการอื่นๆในการหางานทำ และสร้างผลประโยชน์แก่สังคมจำนวนนับไม่ถ้วน

Yim/Sun

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

周旭