สู่ยวิ่น: การเดินทางในช่วงฤดูร้อน (1)

2019-08-05 10:41:28 | CRI
Share with:

“สู่ยวิ่น” หรือ การเดินทางในช่วงฤดูร้อน เป็นศัพท์เฉพาะคำหนึ่งของประเทศจีน ที่อธิบายถึงการเดินทางของประชาชนในช่วงกลางฤดูร้อน ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม-ปลายเดือนสิงหาคม รวมระยะเวลา 62 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จึงทำให้มีนักเรียน-นักศึกษาจำนวนมากเดินทางกลับบ้าน หรือไม่ก็ออกไปเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศพร้อมกับสมาชิกครอบครัว ดังนั้น ระบบการคมนาคมของจีนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางรถไฟ ทางถนน  หรือทางอากาศทั่วประเทศ ก็จะอยู่ในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี

图片默认标题_fororder_1_副本

เมื่อกล่าวถึง “สู่ยวิ่น” คงต้องพูดถึง “ชุนยวิ่น” ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีการเดินทางกันอย่างคับคั่งของประชาชนในประเทศ “ชุนยวิ่น” นั้นอยู่ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูหนาว ในช่วงเวลาดังกล่าว ประชาชนจีนจะมีเทศกาลตรุษจีน หรือ ที่ภาษาจีนเรียกว่า “ชุนเจี๋ย” ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดในรอบปีในสายตาชาวจีน เทศกาลตรุษจีน ทั่วประเทศจะมีวันหยุดยาว 7 วัน ดังนั้น ชาวจีนที่ทำงานต่างจังหวัดส่วนใหญ่ก็จะเดินทางกลับบ้านไปฉลองเทศกาลตรุษจีน เพื่อต้อนรับปีใหม่พร้อมหน้าพร้อมตาสมาชิกครอบครัว ดังนั้น “ชุนยวิ่น” จึงหมายถึง การเดินทางกลับบ้านในช่วงตรุษจีน กินเวลานานประมาณ 40 วันด้วยกัน

图片默认标题_fororder_2_副本

หลายปีมานี้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ “สู่ยวิ่น” เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คือ การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา รถไฟความเร็วสูงกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการเปิดหน้าใหม่แห่งยุคสมัยรถไฟความเร็วสูงของจีน ระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา รถไฟความเร็วสูงจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เส้นทางรถไฟความเร็วสูงมีความครอบคลุมเมืองสำคัญต่าง ๆ ถึง 80% ของประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟระหว่างเมืองสำคัญ เช่น กรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน นครเซี่ยงไฮ้-เมืองหนานจิง นครกว่างโจว-นครเซินเจิ้น เป็นต้น แต่ละวันมีขบวนรถไฟมากกว่า 100 ขบวน สถิติเมื่อปลายปี ค.ศ. 2018 จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศจีนเป็นระยะกว่า 29,000 กิโลเมตร คิดเป็นมากกว่า 2 ใน 3 ของทางรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก ทุกวันนี้จึงกล่าวได้ว่า การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงได้กลายเป็นวิธีการเดินทางหลักของชาวจีนไปแล้ว 

图片默认标题_fororder_3_副本

สำหรับการเดินทางในช่วงฤดูร้อนของจีนในปีนี้ หน่วยงานการรถไฟของจีนคาดการณ์ว่า เส้นทางรถไฟทั่วประเทศรวมถึงรถไฟความเร็วธรรมดาและความเร็วสูง จะรองรับผู้โดยสารจำนวนถึง 720 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับช่วง “สู่ยวิ่น” ปีที่แล้ว ในจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถไฟมักจะเลือกโดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ไม่เพียงแต่ประชาชนจีนเองที่นิยมเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวจีนก็นิยมที่จะใช้บริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองต่าง ๆ ในประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน  ทั้งด้านราคาค่าตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงของจีนที่ไม่แพงจนเกินไปนัก มีข้อมูลระบุว่า ค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงของจีนเฉลี่ยต่อกิโลเมตร คิดเป็นเพียง 20% - 25% ของค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ  นอกจากนี้ สำหรับการเดินทางระยะที่ไม่ไกลนัก ภายในระยะ 1,200 กิโลเมตร ทำให้รถไฟความเร็วสูงมีศักยภาพในการแข่งขันมากกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์และเครื่องบิน  เนื่องจากเป็นการเดินทางที่มั่นคง ปลอดภัย และตรงต่อเวลา รายงานของธนาคารโลก ระบุว่า อัตราการตรงเวลาของรถไฟความเร็วสูงจีนในการออกเดินทางและถึงจุดหมายปลายทาง สูงถึง 98% และ 95% ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนรถไฟ “ฟู่ซิงห้าว” ซึ่งมีอัตราการตรงต่อเวลาสูงถึง 99% และ 98% ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น กรณีที่ขบวนรถไฟถูกยกเลิกการเดินทางยังมีน้อยมาก จึงถือเป็นทางเลือกการเดินทางที่สะดวกและให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้โดยสารในการเดินทางได้เป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ รถไฟความเร็วสูงของจีนทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยกระดับสูงขึ้นไปอย่างมาก กลายเป็นนามบัตรใหม่อันโดดเด่นที่แสดงถึงประเทศจีน

(Tim/Zi)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (18-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (17-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (17-04-2567)

周旭