พิพิธภัณฑ์ "สื่อเจียหูท่ง" (ซอยสื่อเจีย) กรุงปักกิ่ง - 2

2020-01-31 18:09:22 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_20200130各朝城墙

ในตอนที่หนึ่ง ดิฉันได้แนะนำพิพิธภัณฑ์ “สื่อเจียหูท่ง” หรือ ซอยสื่อเจียในกรุงปักกิ่ง พร้อมกล่าวถึงที่มาของคำว่า “หูท่ง” หรือ ตรอกซอกซอยกันไปแล้ว หากอยากเข้าใจประวัติศาสตร์ของ "หูท่ง" ก็ต้องรู้จักประวัติศาสตร์ของกรุงปักกิ่งกันก่อน ดังนั้น วันนี้ ดิฉันจึงถือโอกาสเล่าถึงประวัติศาสตร์ของกรุงปักกิ่งให้ทราบกันค่ะ

“หูท่ง” คือ ซอย หรือ ทางเดินขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีบ้านพักอยู่สองฝั่ง มีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หยวน (ปีค.ศ.1271-1368) แต่กรุงปักกิ่งมีประวัติกว่า 3,000 ปี ดังนั้น จึงต้องอธิบายตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว ซึ่งเริ่มก่อตั้งเมืองแห่งนี้ขึ้น

ในปี 1045 ก่อนคริสต์กาล จักรพรรดิโจวอู่หวัง ได้กำหนดแคว้นหรือเขตดินแดนสองแห่งภายในอาณาจักรของเขา ให้กับผู้ที่ร่วมสถาปนาราชวงศ์โจว  ซึ่งแคว้นหนึ่งมีชื่อว่า “เยียน” อยู่ในเขตฝางซันของกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน ถือเป็นสถานที่ตั้งเดิมของ “เป่ยจิงเฉิง” หรือ ตัวเมืองปักกิ่ง ส่วนอีกแคว้นหนึ่งมีชื่อว่า “จี้” อยู่ในเขตกว่างอันเหมินของกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ตงฮั่น ก๊กเยียนได้ยึดอำนาจก๊กจี้ และย้ายเมืองหลวงมาอยู่ในที่ตั้งของก๊กจี้

ในสมัยราชวงศ์ถัง (ปีค.ศ.618-907) บริเวณกรุงปักกิ่งในขณะนั้นมีชื่อว่า “แคว้นโยวโจว” ถือเป็น 1 ใน 16 แคว้นที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ถัง นอกจากนี้ยังเป็นเมืองสำคัญทางภูมิศาสตร์ และการป้องกันทางทหารในเขตภาคเหนืออีกด้วย

ต่อมาในปีค.ศ.938 กองกำลังทหารของ “เหลียว” ที่อยู่ทางภาคเหนือ ได้ยึดครองแคว้น “โยวโจว” ใช้เป็นเมืองหลวงทางใต้ของตนเอง พร้อมยังได้ขยายเมืองเพิ่มเติมด้วย

ปีค.ศ. 1122 ชนเผ่าหนี่ว์เจินยึดครอง “โยวโจว” และสร้างราชวงศ์จินขึ้นในปีค.ศ.1153 จัดตั้งเมือง “จงตู” เป็นเมืองหลวง หรือ เป็นที่ทราบกันดีในชื่อ “จินจงตู” ที่เขตกว่างอันเหมินในปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีโบราณวัตถุรักษาไว้ถึงยุคปัจจุบัน เพราะว่า ...

ในปีค.ศ.1271 กุบไลข่าน หรือ ฮูปี้เลี่ย สถาปนาราชวงศ์หยวน โดยเผาตัวเมือง“จินจงตู” ทิ้งทั้งหมด แล้วสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองเก่า และตั้งชื่อให้ว่ากรุง “หยวนต้าตู”  พร้อมปรับปรุงระบบน้ำของเมือง โดยในสมัยราชวงศ์จิน กรุง "จินจงตู" ใช้น้ำจากทะเลสาบ "เหลียนฮวาฉือ" แต่เนื่องจากทะเลสาบมีพื้นที่ไม่มาก จึงไม่สามารถรองรับความต้องการของกรุง "หยวนต้าตู" ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้  ดังนั้น ราชวงศ์หยวนจึงใช้ระบบน้ำของเขต "สือช่าไห่" (ซึ่งรวมถึงทะเลสาบเฉียนไห่ ทะเลสาบโห่วไห่ และทะเลสาบซีไห่ ในปัจจุบัน) เพื่อเป็นแหล่งน้ำของเมือง นอกจากนี้ "กัวโส่วจิ้ง" ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์  และนักชลประทานชื่อดัง ยังได้เชื่อมระบบน้ำของ "สือช่าไห่" กับน้ำพุ "เสินเฉวียน" ทางภาคเหนือ เข้ากับทะเลสาบ "เวิ่งซัน" ซึ่งก็คือทะเลสาบ "คุนหมิง" ในพระราชวังฤดูร้อนในภายหลัง นอกจากนี้ ยังขุดคลองในพื้นที่ทางใต้  ทำให้ระบบน้ำนี้เชื่อมต่อกับแม่น้ำทางใต้ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการด้านน้ำดื่มและน้ำใช้ในชีวิตประจำวันของชาวเมืองแล้ว หากยังทำให้เรือสินค้าจากทางใต้สามารถแล่นขึ้นมาในเมืองได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการค้า ดังนั้น กรุง "หยวนต้าตู" จึงพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และค่อย ๆ มีขนาดคล้ายคลึงกับเมืองเก่าของปักกิ่งในปัจจุบัน “หูท่ง” ก็มีมาตั้งแต่ยุคนี้แหละ “หูท่ง” ก็มีมาตั้งแต่ยุคนี้แหละ

ต่อมาในปี ค.ศ.1368 ราชวงศ์หมิงขึ้นครองราช และได้เผาพระราชวังใน "หยวนต้าตู" ต่อมา จักรพรรดิจูตี้ (หมิงเฉิงจู่) ได้สร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ตามแนวกำแพงเดิมของ "หยวนต้าตู" และขยายพื้นที่เพิ่มเติมทางใต้ จึงเริ่มมีอาณาเขตเมืองเก่าเป็นแบบราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ส่วน "สื่อเจียหูท่ง" สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง

Tim/Ldan

  • เสียงข่าวประจำวัน (19-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (19-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (19-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-04-2567)

张丹