น้ำพระทัยกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงมีต่อเมืองอู่ฮั่น (1)

2020-03-10 18:16:23 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

图片默认标题_fororder_P1

การระบาดของโควิด-19 ที่มีจุดศูนย์กลางในเมืองอู่ฮั่นทำให้นึกถึงการเสด็จฯ เยือนเมืองอู่ฮั่นหลายครั้งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการสารสนเทศตามพระราชดำริที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น รวมไปถึงงานพระราชนิพนธ์แปลที่เกี่ยวข้องกับเมืองอู่ฮั่น

ย้อนไปในทศวรรษ ปี 1990 กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เยือนเมืองอู่ฮั่นเป็นครั้งแรก ทรงศึกษาเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลและดาวเทียม ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรังวัดและการทำแผนที่เมืองอู่ฮั่น  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีน-ไทย  ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นได้ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์แด่กรมสมเด็จพระเทพฯ จากนั้นปี ค.ศ. 2007 กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงนำคณะจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเยือนมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ทรงพระราชดำริให้สองฝ่ายลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับการก่อตั้งศูนย์วิจัยสิรินธร ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอวกาศที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ต่อมาในปี ค.ศ. 2013 พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนเมืองอู่ฮั่นอีกครั้ง และทรงเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายศูนย์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโครงการพระราชดำริแรกในประเทศจีนของกรมสมเด็จพระเทพฯ

图片默认标题_fororder_P2

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงขยายความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย จากด้านวัฒนธรรมสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้แสดงบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยธรรมชาติ การคมนาคมอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และการท่องเที่ยวอัจฉริยะในประเทศไทย  

ด้านวรรณกรรม กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์แปลจากนวนิยายจีนเรื่อง “นารีนครา” ผลงานของนักประพันธ์เมืองอู่ฮั่น  พระราชนิพนธ์แปลเรื่องนี้มาจากนวนิยายเรื่อง “ทาเตอเฉิง” ซึ่งแปลเป็นไทยตรง ๆ คือ  เมืองของเธอ ที่เขียนโดยนางฉือ ลี่ นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของเมืองอู่ฮั่น

ฉือ ลี่ เกิดที่อำเภอเซียนเถา มณฑลหูเป่ย ในปี ค.ศ. 1957 เคยศึกษาวิชาแพทย์ ต่อมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยอู่ฮั่น เอกภาษาและวรรณคดีจีน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เธอทำงานเป็นบรรณาธิการของนิตยสารฉบับหนึ่ง  และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวรรณคดีเมืองอู่ฮั่น ปัจจุบัน เธอเป็นประธานสหพันธ์วรรณคดีเมืองอู่ฮั่น  ฉือ ลี่ ใช้ชีวิตในเมืองอู่ฮั่นมาโดยตลอด เธอบอกว่า ฉันเป็นของอู่ฮั่น อู่ฮั่นเป็นของฉัน ฉันคือต้นหญ้าเล็ก ๆ ต้นหนึ่งบนผืนแผ่นดินอู่ฮั่น  อู่ฮั่นจะเป็นฉากหลังในงานเขียนของฉันตลอดไป และเป็นหน้าต่างบานหนึ่งที่ฉันจะใช้สำรวจ สืบเสาะค้นหาสังคมตลอดกาล

图片默认标题_fororder_P3

นวนิยายเรื่อง “นารีนครา” เป็นเรื่องเกี่ยวกับสตรี 3 คน 3 วัย ที่มีชีวิตผูกพันซึ่งกันและกัน เป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ของเมืองอู่ฮั่น ซึ่งผู้อ่านจะได้เรียนรู้ชีวิตและสถานะของหญิงสาวอู่ฮั่นที่ต้องเผชิญหลังการแต่งงาน รวมไปถึงชะตากรรมของคนแต่ละรุ่นในสายธารชีวิตอันยาวนาน

สตรีตัวเอกในนวนิยายโศกเศร้าจากสามีเสียชีวิต จึงมีสุขภาพทรุดโทรม เธอรู้สึกผิดว่า ตอนที่สามีของเธอมีชีวิตอยู่ เธอได้นอกใจไปบ้าง ผู้ที่ทำให้เธอพ้นจากความเศร้าโศกคือแม่สามี ทำให้ลูกสะใภ้เกิดกำลังใจ ลุกขึ้นมาประกอบธุรกิจเปิดร้านขัดรองเท้า และว่าจ้างคนงานหญิงอีกวัยที่มีปัญหาครอบครัวมาช่วยกันแก้ปัญหา ตลอดทั้งเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงใจหญิงแท้จริงแกร่งดั่งเหล็กกล้า อีกทั้งยังสอดแทรกเรื่องราว สถานที่  วัฒนธรรม และอาหารของเมืองอู่ฮั่น เห็นภาพของเมืองเก่าแก่ที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม เสน่ห์ เอกลักษณ์ของตัวเอง ช่างเป็นเรื่องที่อ่านสนุกและมีสาระมากมายให้ครุ่นคิด

นวนิยายเรื่อง “นารีนครา” ดำเนินเรื่องโดยใช้ฉากเมืองอู่ฮั่น  กล่าวถึงเมืองอู่ฮั่นตลอดเรื่อง อ่านแล้วให้ความรู้สึกคิดถึงเมืองอู่ฮั่น จนทำให้จำชื่อเมืองนี้ได้แม่น ใครอยากเห็นภาพชีวิตคนอู่ฮั่น รู้จักเมืองอู่ฮั่น แนะนำให้อ่านพระราชนิพนธ์แปล “นารีนครา” ในกรมสมเด็จพระเทพฯ

นวนิยายเรื่อง “ทาเตอเฉิง” เผยแพร่ในจีนเมื่อปี ค.ศ. 2011  ส่วนพระองค์ทรงอ่านในปี ค.ศ. 2012 ทรงโปรดปรานจนวางไม่ลง จึงทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นฉบับภาษาไทย ในชื่อว่า “นารีนครา” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์และวางจำหน่ายในประเทศไทยด้วย

图片默认标题_fororder_P4

มีรายงานว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงอ่านนิตยสารบนเครื่องบิน ซึ่งเล่าถึงประวัติและผลงานของนางฉื่อ ลี่ จึงทรงถามครูผู้ถวายพระอักษรภาษาจีนทำให้ทรงทราบว่า นักเขียนท่านนี้มักเขียนเรื่องบทบาทของสตรีจีนที่น่าสนใจ จากที่พระองค์ทรงโปรดการแปลหนังสือเพราะได้ประโยชน์ ทำให้รู้จักคำศัพท์ สำนวนต่าง ๆ และทำให้ทรงเข้าใจภาษาจีนดีขึ้น พระองค์จึงทรงแปล “นารีนครา” สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

พระองค์ทรงอ่านวรรณคดีจีน ทำให้ทรงเข้าใจถึงจิตใจของคนจีน  และนำมาถ่ายทอดแก่ผู้อ่านชาวไทย เพื่อจะได้เข้าใจคนจีนดีขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนให้ดียิ่งขึ้น 

  • เสียงข่าวประจำวัน (24-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (24-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (24-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (23-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (23-04-2567)

晏梓