วันที่ 20 สิงหาคม ที่กรุงเทพฯ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอสแคป (ESCAP) ระบุว่า ประเทศเอเชียแปซิฟิกจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา “ช่องว่างด้านดิจิทัล” โดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมรอบใหม่
ระหว่างวันที่ 19 - 20 สิงหาคมที่ผ่านมา การประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอสแคป จัดประชุมทางไกลจากศูนย์การประชุมของเอสแคปในกรุงเทพฯ โดยมีบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการของประเทศเอเชียแปซิฟิกร่วมประชุม
นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหารเอสแคป กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมว่า ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ โลก และสังคม นับวันยิ่งพึ่งพาอาศัยการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนการเชื่อมโยงทางดิจิทัล เรากำลังวางแผนอนาคตของโลกหลังการระบาดของโควิด-19 เพื่อไม่ให้ช่องว่างด้านดิจิทัลก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมรอบใหม่
การประชุมครั้งนี้ ระบุว่า บรรดาประเทศเอเชียแปซิฟิกกำลังใช้เทคโนโลยียุคใหม่เพื่อยับยั้งและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ขณะเดียวกัน รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญของประเทศต่าง ๆ กำลังใช้ความพยายาม เพื่อศึกษาค้นคว้าการสร้างนวัตกรรมและสร้างสรรค์ใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
จากสถิติพบว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนประชากร 4,300 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 52% ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จึงไม่สามารถใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ขณะที่ “ช่องว่างด้านดิจิทัล” เป็นไปได้ที่จะทำให้ความไม่เสมอภาคทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ตลอดจนทำให้สังคมบอบบางยิ่งขึ้น
การประชุมครั้งนี้อภิปรายหลักนโยบายเกี่ยวกับการครอบคลุมทางเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยหวังที่จะใช้นโยบายเหล่านี้ประกันประชาชนทุกกลุ่มในภูมิภาคให้เข้าถึงเทคโนโลยียุคใหม่ได้ง่ายขึ้น
การประชุมครั้งนี้เน้นด้วยว่า จำเป็นต้องใช้จิตวิญญาณการบุกเบิกพัฒนาธุรกิจขององค์กรภาคเอกชนและรวมพลังสร้างนวัตกรรม เพื่อรับมือความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Tim/Zhou)