“เขื่อนมี่หยุน” อยู่ในเขตมี่หยุนของกรุงปักกิ่ง ห่างจากใจกลางเขตมี่หยุนไปทางเหนือ 13 กิโลเมตร กลางภูเขาเยียนซาน เมื่อ ค.ศ. 1958 มีการระดมกำลังคน 200,000 คน จากกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ยมาสร้างเขื่อนมี่หยุนขึ้น เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยแม่น้ำฉาวไป๋ และบรรเทาการขาดแคลนน้ำของกรุงปักกิ่งกับนครเทียนจิน ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในปี 1960 จากนั้น เขื่อนมี่หยุนแสดงบทบาทในการสกัดกั้นน้ำหลาก กักเก็บน้ำ การทดน้ำเข้านา การจ่ายน้ำแก่เมือง และการกำเนิดไฟฟ้า ต่อมาในปี 1985 หน้าที่หลักของเขื่อนแห่งนี้คือ จ่ายน้ำประปาแก่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน
ช่วงแรกของการสถาปนาจีนใหม่ เขตมี่หยุนมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 130 กว่าตารางกิโลเมตรเท่านั้น ภายหลังการสร้างเขื่อนมี่หยุนแล้ว ในช่วงกึ่งศตวรรษมานี้ เขตมี่หยุนได้ดำเนินโครงการปลูกป่า บำบัดแหล่งก่อปัญหาพายุทราย แปรสภาพภูเขาร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้อัตราพื้นที่ป่าไม้สูงขึ้นเป็น 64.3% ส่วนอัตราพื้นที่ป่าไม้ในแหล่งน้ำที่ตั้งเขื่อนสูงขึ้นเป็น 72.3%
เพื่อบรรลุเป้าหมายแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำมีระดับมลพิษเป็นศูนย์ เขตมี่หยุนได้ดำเนินการ “3 บำบัด 5 สร้าง” คือ บำบัดขยะ บำบัดน้ำเสีย บำบัดสิ่งสกปรก กับสร้างความสะอาด สร้างความเขียว สร้างความแข็งแกร่ง สร้างความงาม สร้างความสว่าง และส่งเสริมพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซชีวภาพ ก๊าซจากของเหลือใช้ทางการเกษตร และเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษปี 1980 ได้เพิ่มบทบาทด้านการอนุรักษ์มากขึ้น พื้นที่เขตมี่หยุนกว่า 2 ใน 3 ถูกจัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์แหล่งน้ำ ปี 1985 กรุงปักกิ่งออกข้อกำหนดห้ามดำเนินโครงการใดๆ ตามลุ่มน้ำเขื่อนมี่หยุน ยกเว้นโครงการชลประทานเท่านั้น โดยมีการสั่งปิดโรงงานกว่า 50 แห่ง และสั่งหยุดโครงการที่อยู่ระหว่างการสร้างกว่า 80 โครงการภายในระยะเวลาอันสั้น
หลายปีมานี้ เขตมี่หยุน กรุงปักกิ่ง ปฏิบัติตามแนวคิดการพัฒนาสีเขียว “น้ำใสภูเขาเขียวก็คือภูเขาเงินภูเขาทอง” ตามคำกล่าวของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนว่า “ให้คุ้มครองระบบนิเวศดั่งถนอมดวงตา” หาทางส่งเสริมระบบนิเวศที่ดี สร้างสรรค์ปรับปรุงกลไกและมาตรการอนุรักษ์น้ำอย่างต่อเนื่อง กำกับดูแลและคุ้มครองทุกระดับ จนประสบผลสำเร็จเด่นชัด
เช่น ปี 2014 เขตมี่หยุนจัดตั้งกลไก “6 คุ้มครอง” คือ คุ้มครองน้ำ คุ้มครองแม่น้ำ คุ้มครองภูเขา คุ้มครองป่าไม้ คุ้มครองที่ดิน และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีการระดมกำลังคนจากทุกหน่วยงานจัดตั้งผู้ดูแลจำนวน 12,566 คน ทุกตำบลทุกหมู่บ้านร่วมกันตรวจตราคุ้มครองน้ำเขื่อนมี่หยุน และแหล่งน้ำในท้องถิ่นของตน
ด้วยการคุ้มครองแหล่งน้ำอย่างได้ผลมานานปี สภาพแวดล้อมธรรมชาติของเขตมี่หยุนอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับเขื่อนมี่หยุนนั้น ปริมาณประจุลบในอากาศสูงกว่าเขตเมือง 40 เท่า คุณภาพอากาศคงระดับ 1 เป็นประจำ เขื่อนมี่หยุนจึงจัดเป็นแหล่งน้ำดื่มไร้มลพิษเพียงแห่งเดียวของกรุงปักกิ่ง คุณภาพน้ำเข้าขั้นมาตรฐานระดับ 2 ชนิดสามารถดื่มได้โดยตรง
ปัจจุบัน เขื่อนมี่หยุนเป็นแหล่งน้ำดื่มและแหล่งหล่อเลี้ยงระบบนิเวศสำคัญของปักกิ่ง เขื่อนมี่หยุนมีความจุน้ำทั้งสิ้น 4,375 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่น้ำช่วงใหญ่สุด 188 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ เขื่อนมี่หยุนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักร้อนที่มีชื่อเสียงทางตะวันออกของกรุงปักกิ่งด้วย เนื่องจากมีภูเขาและธารน้ำใสสะอาด
เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีของเขื่อนมี่หยุน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีจีน ได้ตอบจดหมายพี่น้องประชาชนที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างและรักษาเขื่อนมี่หยุน แสดงความห่วงใยและส่งความปรารถนาดีถึงทุกคน
นายสี จิ้นผิงระบุในจดหมายว่า การคุ้มครองระบบนิเวศถือเป็นเรื่องที่ทำขึ้นในยุคนี้และจะยังผลประโยชน์เป็นพันๆ ปี พื้นที่ภูเขาของกรุงปักกิ่งกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร จะเป็นเกราะกำบังให้กับระบบนิเวศและแหล่งคุ้มครองต้นน้ำที่สำคัญของเมืองหลวง สำหรับเขื่อนมี่หยุน ข้าพเจ้าเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา การก่อสร้างเขื่อนในตอนแรกนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำหลาก ปัจจุบันเขื่อนแห่งนี้เป็นมณีที่ไม่อาจประเมินค่า เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มบนพื้นผิวโลก และแหล่งสำรองทรัพยากรน้ำที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของกรุงปักกิ่ง หวังว่าทุกท่านจะใช้ความพยายามต่อไป ดำเนินการคุ้มครองเขื่อนมี่หยุนให้ดีต่อไป อุทิศกำลังใหม่เพื่อสร้างปักกิ่งที่สวยงาม
นายสี จิ้นผิงย้ำว่า คณะกรรมการพรรคฯ และทางการทุกระดับควรดำเนินแนวคิดระบบนิเวศที่ดีอย่างลงลึก จัดโครงการระบบนิเวศที่ดีอยู่ในยุทธศาสตร์การปฏิบัติภารกิจ ยืนหยัดหลักการที่ระบบนิเวศสำคัญเป็นอันดับแรก และมุ่งการพัฒนาสีเขียว สร้างเสริมโครงการพื้นที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศ ปรับกลไกการชดเชยระบบนิเวศให้สมบูรณ์ขึ้น ร่วมเฝ้าดูแลรักษาน้ำใสภูเขาเขียวที่เปรียบดั่งภูเขาเงินภูเขาทองของมาตุภูมิให้ดี
(YIM/LING/LYJ)