บทวิเคราะห์ :“แผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 13”นำการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงสู่จีน

2020-09-28 18:55:11 | CRI
Share with:

ช่วงปี ค.ศ. 2016 - 2020 เป็นช่วงที่จีนดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13  การพัฒนาในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งได้รับการชื่นชมจากประชาคมโลกและเป็นที่ภาคภูมิใจของประชาชนจีน

ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2016 - 2019 เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราร้อยละ 6 ขึ้นไปต่อปีมาโดยตลอด มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านล้านหยวน ในปี 2016 เป็น 100 ล้านล้านหยวนในปี 2019 โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และความเข้มแข็งของประเทศโดยรวมได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมีเอกลักษณ์ประการหนึ่ง คือ การเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ โดยเศรษฐกิจมีการเติบโตแบบความเร็วปานกลางถึงสูง อีกทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพยังได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ  กล่าวโดยละเอียด คือ ความเร็วในการเติบโตเปลี่ยนจากความเร็วสูงเป็นความเร็วปานกลางถึงสูง รูปแบบการพัฒนาเปลี่ยนจากเน้นขนาดและความเร็วเป็นการเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพ โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนจากการเพิ่มปริมาณและเสริมทักษะเป็นการปรับปรุงปริมาณการสำรองและปฏิบัติตามหลักการที่ให้ความสำคัญทั้งการยกระดับคุณภาพและการเพิ่มปริมาณ ตลอดจนพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเปลี่ยนจากการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรและแรงงานที่มีต้นทุนต่ำมาเป็นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ภายใต้สภาวะปกติใหม่ โครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของจีนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ปี 2019 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมที่ 3 หรือ อุตสาหกรรมบริการ คิดเป็นร้อยละ 53.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อุตสาหกรรมบริการกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความมั่นคงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทได้ลดน้อยลง จนถึงปลายปี 2019 สัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองกับชนบทมีมากกว่าร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองของจีนมีผลคืบหน้าที่สำคัญ การสร้างนวัตกรรมมีพลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดปี 2019 จีนมีจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่เฉลี่ยแล้วราว 20,000 รายต่อวัน การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามีมากกว่า 2 ล้านล้านหยวน ขณะที่ จำนวนสิทธิบัตรการประดิษฐ์อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 13.3 รายการต่อประชากรหมื่นคน นอกจากนี้ ผลงานด้านนวัตกรรมยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมพบว่า จีนก้าวขึ้นเป็นอันดับที่ 14 ของโลก

การเติบโตแบบความเร็วปานกลางถึงสูงทำให้มวลชนรู้สึกว่า มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น และมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชากรจีนกว่า 11 ล้านคนพ้นจากภาวะยากจนทุกปี การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็นแบบสีเขียวและมีความปลอดภัยมากขึ้น ปี 2019 ร้อยละ 46.6 ของบรรดาเมืองในจีนจำนวน 337 แห่ง ผ่านมาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งสูงกว่าปี 2015 ที่คิดเป็นร้อยละ 25 ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการผลิตมีจำนวนรวม 29,519 คน ลดลงจากปี 2015 ราวร้อยละ 55.4% นอกจากนี้ ปี 2019 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อคนของจีนยังทะลุ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในโลก

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง เช่น หลังส่อง “กระจกเมฆ 3 มิติ” แล้ว คุณจะได้รับคำแนะนำในการจับคู่เสื้อผ้าตามสภาพอากาศ โอกาส และรูปร่างของผู้สวมใส่ที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้โดยตรง  เสื้อผ้าที่สวมใส่ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อใส่เข้าไปในตู้เสื้ออัจฉริยะก็สามารถฆ่าเชื้อและขจัดรอยยับได้ การใช้เทคโนโลยีจำแนกใบหน้าโดยสารรถไฟความเร็วสูง จองโต๊ะร้านอาหารจากการสแกนรหัสคิวอาร์ ร้านค้าปลีกไร้พนักงาน และการเจรจาธุรกิจผ่านคลาวด์ คงไม่ใช่ฉากแห่งโลกอนาคตในภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ หากเป็นชีวิตความเป็นอยู่อัจฉริยะอย่างแท้จริง ซึ่งได้มาจากการพัฒนาไปสู่ความเป็นดิจิทัลของธุรกิจนับพันนับหมื่นแห่งของจีน

เศรษฐกิจจีนซึ่งเติบโตด้วยความเร็วสูงถึงปานกลางนั้นมีส่วนเกื้อกูลต่อโลก ในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนการมีส่วนร่วมของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกคิดเป็นราวร้อยละ 30 ถือเป็นหัวรถจักรอันทรงพลังที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกพัฒนาก้าวหน้า ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จีนกลายเป็นเศรษฐกิจหลักกลุ่มแรกที่กลับมาเติบโตอีกครั้งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 องค์กรจัดอันดับระหว่างประเทศ เช่น มูดี้ส์ และฟิทช์ ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาทางเศรษฐกิจระดับมหภาคและองค์กรจัดอันดับระหว่างประเทศอื่น ๆ  พากันปรับขึ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้ พร้อมกับยกย่องว่า “จีนยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก”

(Tim/Zhou/Lu)

  • เสียงข่าวประจำวัน (03-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (03-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (03-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)

周旭