บทวิเคราะห์ : ความร่วมมือจีน-อาเซียนมีศักยภาพใหญ่หลวง

2020-09-30 17:19:23 | CRI
Share with:

สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนและปั่นป่วนอย่างมาก ลัทธิกีดกันและลัทธิฝ่ายเดียวมีแนวโน้มฟื้นตัว ข้อพิพาททางการค้าและการลงทุนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเผชิญกับความท้าทาย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนยังคงมีแนวโน้มการพัฒนาที่ดี ขณะที่ ความร่วมมือจีน-อาเซียนมีศักยภาพมากและมีอนาคตกว้างไกล

ปีนี้ เป็นปีสำคัญสำหรับความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปีแห่งความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียนเท่านั้น หากยังเป็นวาระครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายหลี่ เฉิงกาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขตการค้าเสรีจีน- อาเซียนผลักดันให้การค้าและการลงทุนในภูมิภาคมีเสรีภาพและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียนได้เข้าสู่ยุคทอง มูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายเพิ่มขึ้นจาก 292,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 มาเป็น 641,500  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019 จนถึงปลายปี 2019 มูลค่าการลงทุนระหว่างสองฝ่ายมีปริมาณ 223,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนยังได้สร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าในอาเซียนรวม 25 แห่ง

ตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดเป็นต้นมา จีนและบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อขจัดความยากลำบากต่าง  ๆ สองฝ่ายเคียงบ่าเคียงไหล่ในแนวหน้าของการป้องกันและควบคุมโรคระบาด รวมถึงพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อรับมือผลกระทบจากโรคระบาด สองฝ่ายได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 และการส่งเสริมความร่วมมือของเขตการค้าเสรีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเน้นว่า สองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือและความมั่นใจอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ เพื่อขจัดผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อการค้าและการลงทุนของโลกรวมถึงในภูมิภาค แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวยังยืนยันบทบาทสำคัญของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่มีต่อการพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายอีกด้วย โดยสัญญาว่าจะรักษาการเปิดกว้างของตลาดและสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ดี ด้วยเหตุนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสองฝ่ายจึงพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยอาเซียนกลายเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของจีนเป็นครั้งแรก  จีน-อาเซียนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน ทั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนเป็นผลงานอันอุดมสมบูรณ์และทรงพลังของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีศักยภาพสำหรับความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย

จีน-อาเซียนสัญญาว่า จะร่วมมือกันต้านโควิด-19 โดยจะดำเนินความร่วมมือในระดับต่าง ๆ และด้านต่าง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอรรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า  ไทย-จีนกำลังดำเนินการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในหลายระดับเพื่อให้ครบวงจร ซึ่งเกี่ยวพันถึงด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข  และการศึกษา เป็นต้น หลังโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเป็นต้นมา  ระบบสาธารณสุขของจีนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ไทยหวังว่าจะดำเนินการแลกเปลี่ยนด้านการวิจัยและผลิตวัคซีน รวมถึงแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกับจีนให้มากยิ่งขึ้น

วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา นายวาง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเน้นในที่ประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จีนยินดีร่วมมือกับประเทศอาเซียนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเอาชนะโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ร่วมกันพัฒนาเครือข่าย “ช่องทางอำนวยความสะดวก” และ “ช่องทางสีเขียว” ในภูมิภาค รักษาความราบรื่นและความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานส่วนภูมิภาค   ผลักดันการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรอบด้านส่วนภูมิภาคภายในปีนี้ ยกระดับการบูรณาการของเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค จีนจะถือโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในปีหน้า ส่งเสริมความร่วมมือกับบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองฝ่าย ตลอดจนสร้างสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-อาเซียน  (Tim/Zhou/Lu)

  • เสียงข่าวประจำวัน (29-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (29-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

周旭