“น้ำใสภูเขาเขียวก็คือภูเขาทองภูเขาเงิน”---สี จิ้นผิงนำจีนก้าวสู่เส้นทางมีระบบนิเวศที่ดี

2020-12-08 09:04:42 | CMG
Share with:

“น้ำใสภูเขาเขียวก็คือภูเขาทองภูเขาเงิน”---สี จิ้นผิงนำจีนก้าวสู่เส้นทางมีระบบนิเวศที่ดี

วันที่ 15 สิงหาคม ปี 2005 ที่หมู่บ้านอี๋ว์ชุน มณฑลเจ้อเจียง นายสี จิ้นผิง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจ้อเจียงเสนอข้อวินิจฉัยสำคัญเรื่อง “น้ำใสภูเขาเขียวก็คือภูเขาทองภูเขาเงิน” ช่วง 15 ปีมานี้ แนวคิด “สองภูเขา” ดังกล่าวได้ชี้นำจีนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นฉันมามติและปฏิบัติการของทั่วสังคมในการส่งเสริมวิถีการพัฒนาและวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างจีนที่สวยงามและบ้านเรือนที่สุขสวัสดิ์

อนุรักษ์น้ำใสภูเขาเขียว ให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันอย่างปรองดอง

ที่หมูบ้านอี๋ว์ชุนในช่วงปลายปี อากาศนับวันหนาวลง แต่สำหรับหู โหย่วเฉียน ชาวบ้านที่จำหน่ายสินค้าเกษตรท้องถิ่นกลับค้าขายได้อย่างร้อนแรง “ช่วงหลายวันมานี้ หน่อไม้ฤดูหนาวขายไปสิบกว่าตัน” หู โหย่วเฉียนพูดด้วยอารมณ์ดี

ช่วง 15 ปีมานี้ หมูบ้านอี๋ว์ชุนมุ่งมั่นปฏิบัติตามแนวคิด “สองภูเขา” ก้าวสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน มีระบบนิเวศที่ดี กิจการที่รุ่งเรือง และชาวบ้านที่มั่งคั่งขึ้น

ทะเลไผ่ที่รายล้อมหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็น “ธนาคารสีเขียว” ของชาวบ้านทั้งหลาย วัง อี้ว์เฉิง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านอี๋ว์ชุนระบุว่า ทางหมู่บ้านได้มุ่งกิจการสำคัญ 5 อย่าง ได้แก่ “หน่อไม้ เห็ด ใบชา ต้นข้าว และสมุนไพร” โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “เหลี่ยงซานหนงเกิง” เป็นแบรนด์สินค้าเกษตรรายใหญ่ของท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์การสร้างแบรนด์ที่เป็นหนึ่งเดียว  อันเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเนรมิต “น้ำใสภูเขาเขียวเป็นภูเขาทองภูเขาเงิน”

“น้ำใสภูเขาเขียวก็คือภูเขาทองภูเขาเงิน”---สี จิ้นผิงนำจีนก้าวสู่เส้นทางมีระบบนิเวศที่ดี

การอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมก็คือการรักษากำลังการผลิต การปรับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้ดีก็คือการส่งเสริมกำลังการผลิต ไม่เพียงแต่หมู่บ้านอี๋ว์ชุนเท่านั้น พื้นที่อีกมากมายทั่วประเทศล้วนจัดระบบนิเวศที่ดี และอากาศที่ดีอยู่ในปัจจัยการผลิต ให้น้ำใสภูเขาเขียวแปรเปลี่ยนเป็นภูเขาทองภูเขาเงินที่แท้จริง ทั้งให้แนวคิดรักสีเขียวคุ้มครองสีเขียวและคุ้มครองระบบนิเวศก้าวสู่หัวใจของผู้คนทั้งหลาย

อนุรักษ์ท่ามกลางการพัฒนา พัฒนาท่ามกลางการอนุรักษ์ แนวคิด “สองภูเขา” ชักนำผืนแผ่นดินจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ลุ่มลึก ช่วง “แผนฯ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ปี 2016-2020)” การท่องเที่ยวป่าไม้มาแรง จำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 6,000 ล้านคน (ครั้ง)

หลี่ ชุนเหลียง รองผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติระบุเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2020 ว่า จีนใช้ความเหนือกว่าด้านทรัพยากรกิจการป่าไม้และทุ่งหญ้าอย่างเต็มที่ พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อโครงการช่วยเหลือผู้ยากจนและโครงการคุ้มครองระบบนิเวศ ซึ่งทำได้ดีทั้งสองโครงการ ช่วยผู้ยากจนกว่า 20 ล้านคนพ้นจากความยากจนและมีรายได้เพิ่ม

สู่หนทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้ำใสภูเขาเขียวนำมาซึ่งชีวิตที่อยู่ดีมีสุข

ใต้แสงอาทิตย์ในช่วงต้นฤดูหนาว รถแล่นบน “ทางหลวงหมายเลข 1” เมืองลี่หยาง มณฑลเจียงซู แลเห็นทิวเขาทอดทับซ้อนกัน เงาร่มไผ่ไหวพริ้ว บ้านเรือนไร่นาเรียงรายกันแน่นขนัด “ทางหลวงหมายเลข 1” สายนี้ร้อยเรียงหมู่บ้านตามการปกครอง 86 หมู่บ้าน หมู่บ้านตามธรรมชาติ 352 หมู่บ้าน และแหล่งท่องเที่ยวชนบทกว่า 220 แห่ง ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่ชนบทด้วยการท่องเที่ยว โดยปีหลังๆ นี้ เมืองลี่หยางสั่งปิดกิจการที่ก่อมลพิษร้ายแรง ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมนับวันดีขึ้น ทำให้หมู่บ้านทั้งหลายที่ไม่เคยมีชื่อเสียงในอดีตกลายเป็น “สถานที่ยอดนิยมมีชื่อเสียงทางเน็ต”

“น้ำใสภูเขาเขียวก็คือภูเขาทองภูเขาเงิน”---สี จิ้นผิงนำจีนก้าวสู่เส้นทางมีระบบนิเวศที่ดี

หวัง เจี้ยนเป้ย วัย 53 ปี เคยเปิดโรงงานวัสดุก่อสร้าง เขายังจำได้ว่า เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ที่นี่เคยเจริญรุ่งเรืองด้วยกระแสการทำเหมืองแร่ ทำให้ “ก่อเกิดฝุ่นละออง และสายน้ำสีดำ” ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระดับหนึ่ง เมื่อแนวคิด “สองภูเขา” ฝังลึกในใจผู้คน เมืองลี่หยางก็หันมาสู่หนทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนา หวัง เจี้ยนเป้ยจึงปิดโรงงานวัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2015 เขาหันมาทำกิจการเรือไร้คนขับเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในการตรวจสภาพสิ่งแวดล้อม และการสำรวจทางทะเล ทำให้เขารู้สึกว่ามีความสำเร็จมาก

  “ไม่เพียงแต่ภูมิทัศน์สวยขึ้นเท่านั้น เศรษฐกิจก็หันไปในทิศทางที่ดีด้วย เฉพาะปี 2019 การท่องเที่ยวประเภทการเกษตรนันทนาการและการท่องเที่ยวชนบทของเมืองลี่หยางได้รองรับนักท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4,000 ล้านหยวน สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรกว่า 50,000 คน” หวัง หงหมิง ผู้อำนวยการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเมืองลี่หยางระบุ

  น้ำใสภูเขาเขียวนำมาซึ่งชีวิตที่อยู่ดีมีสุข สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือโครงสร้างเศรษฐกิจและรูปแบบการพัฒนาที่เปลี่ยนไปสู่ระดับสูงยิ่งขึ้น ปีหลังๆ นี้ จีนกำจัดมลภาวะพร้อมไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่งเสริมกิจการใหม่ ยกระดับกิจการดั้งเดิมให้สูงขึ้น ยกเลิกการผลิตที่ล้าสมัย ทำให้คุณภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมลงเอยได้ดีขึ้นกว่าเดิม

 สถิติระบุว่า เมื่อเทียบกับปี 2015 น้ำผิวดินทั่วประเทศในปี 2019 ที่ได้คุณภาพอยู่ในเกณฑ์หรือสูงกว่าเกณฑ์น้ำประเภท Ⅲ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ขณะที่น้ำผิวดินที่ด้อยคุณภาพอยู่ในเกณฑ์น้ำประเภท Ⅴ มีสัดส่วนลดลงร้อยละ 6.3

ส่วนความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเมืองต่างๆ ปรับลดลง 23.1% และจำนวนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ดีใน 337 เมืองทั่วประเทศมีอัตราสูงเป็น 82%

ระบบนิเวศที่ดีส่องถึงอนาคตที่ดีงาม คงบ้านเรือนที่สวยให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีนี้เป็นต้นไป ได้ดำเนินการห้ามทำการประมงรอบด้านในแหล่งคุ้มครองสิ่งมีชีวิตทางน้ำ 332 แห่งตามลุ่มแม่น้ำแยงซี และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2021 เป็นต้นไป จะดำเนินการห้ามทำการประมงเป็นเวลา 10 ปีในบริเวณน่านน้ำสำคัญของลุ่มแม่น้ำแยงซี

อู๋ หัวซาน ชาวหมู่บ้านเซี่ยซาโถว ตำบลเหลียนเหวย เขตซินเจี้ยน เมืองหนานชาง มณฑลเจียงซี ทำการจับปลามาแล้วกว่า 20 ปี ปัจจุบันหันมาทำการเพาะปลูกข้าวนาน้ำพื้นที่ 300 - 400 หมู่ (ประมาณ 120 - 160 ไร่) โดยปลูกข้าวไปพร้อมกับเลี้ยงกุ้ง ได้สร้างตำแหน่งงานแก่ชาวประมง 4 ครัวเรือนด้วย

“ผมจับปลาที่ทะเลสาบโผหยางกับรุ่นพ่อตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่ก่อนโยนแหครั้งหนึ่งจะได้ปลาป่าหลายร้อยกิโลกรัม แต่ปีหลังๆ นี้แทบไม่เห็นแล้ว” อู๋ หัวซานอุทานเช่นนี้ การจับปลาเกินควรไม่ใช่แผนระยะยาว “วันนี้ไม่กินปลาของลูกหลาน วันพรุ่งลูกหลานจะได้มีปลากิน”

“ห้ามทำการประมง 10 ปี” ในลุ่มแม่น้ำแยงซีเป็นหน้าต่างบานหนึ่งที่เปิดรับการปฏิรูปแนวคิดการพัฒนาอย่างลุ่มลึก คงภูเขาเขียวไว้ เพื่ออนาคต จีนอันเป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่สุด ที่มีประชากร 1,400 ล้านคน กำลังก้าวสู่หนทางการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีความปรองดองกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

จีนได้ดำเนินโครงการระบบนิเวศที่สำคัญๆ ทำให้อัตราพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม่น้ำแต่ละสาย ทะเลสาบแต่ละแห่งล้วนมีผู้กำกับดูแลเฉพาะ

ภูเขาเขียวสถิตอยู่ถาวร น้ำใสทอดยาวเหยียด ปัจจุบัน ลุ่มแม่น้ำแยงซีได้รับการเยียวยารักษาดีขึ้น “โลมาแม่น้ำแยงซี” ปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้น ปลานานาพันธุ์แหวกว่ายในท้องน้ำ

สิ่งที่น่าสังเกตอีกมายมาย เช่น โครงการมวลชนอาสาปลูกต้นไม้ อาสาสมัครเพื่อคุ้มครองสัตว์ จักรยานแชร์ใช้ การแยกขยะจากชีวิตประจำวัน เป็นต้น ผู้คนทั้งเหนือ-ใต้ต่างร่วมกันรักษาบ้านเมืองสีเขียวด้วยกัน

หลายปีมานี้ จีนปฏิบัติตามแนวคิดมีความรับผิดชอบของมหาประเทศด้วยความสมัครใจ โดยได้จัดตั้ง “กองทุนความร่วมมือใต้-ใต้ของจีนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และเดินหน้าตั้งสมาพันธ์นานาชาติเพื่อการพัฒนาสีเขียวตาม “1 แถบ 1 เส้นทาง” เป็นต้น จีนได้ขยับขึ้นเป็นผู้มีส่วนร่วมและมีคุณูปการต่อระบบนิเวศที่ดีของโลก

“น้ำใสภูเขาเขียวคือภูเขาทองภูเขาเงิน เป็นแนวคิดวิเศษที่ชี้ให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” Inger Andersen ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ระบุว่า โลกกับจีนควรร่วมกันยืนหยัดหนทางการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นหนทางที่ยั่งยืน

(YIM/LING/LU)

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (02-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (01-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (01-05-2567)

陆永江