ขงจื่อ ชื่อ ชิว สมญานาม จ้งนี เป็นชาวชีว์ฟู่ มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน อยู่ในยุคชุนชิว(770 – 476 ปี ก่อน ค.ศ.) ขงจื่อเป็นนักปรัชญา นักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาขงจื่อ คำสอนและเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเขาถูกสาวกและลูกศิษย์นำไปเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “หลุนอี่ว์” ขงจื่อเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของชาวจีนสมัยโบราณ
“หลุนอี่ว์” ในฐานะเป็นนิพนธ์ชั้นเลิศทางวัฒนธรรมจีน มีอิทธิพลต่อนักปรัชญา นักเขียน และนักการเมืองจีนกว่า 2,000 ปี กล่าวได้ว่าหากไม่ได้ศึกษา “หลุนอี่ว์” ก็ไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน หรือ จิตใจด้านลึกของชาวจีน
แนวความคิดปรัชญาของขงจื่อเกี่ยวกับฟ้าและมนุษย์มีหลายส่วนได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทั่วไปของมนุษย์ นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในศตวรรษ 21 แนวความคิดปรัชญาของขงจื่อยังได้รับความสนใจจากทั้งชาวจีน และชาวโลก
แนวความคิดปรัชญาขงจื่อเกี่ยวกับฟ้า : ฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง
ในสมัยราชวงศ์ซาง (1,600 – 1,046ปี ก่อน ค.ศ.) และราชวงศ์โจว(1,046 - 256 ปีก่อน ค.ศ.) แนวความคิดทั่วไปเกี่ยวกับฟ้าคือ ฟ้าเป็นเทพเจ้าที่มีความคิดของมนุษย์ ขงจื่อก็ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขงจื่อยังมองว่า ฟ้าเป็นธรรมชาติ ขงจื่อเคยกล่าวว่า ฟ้าไม่ได้พูดในภาษาของคน การหมุนเวียนของสี่ฤดูกาล การเติบโตของสรรพสิ่งทั้งหลายก็เสมือนดั่งเป็นคำพูดของฟ้า จุดนี้จะเห็นได้ชัดว่าในสายตาของขงจื่อ ฟ้าก็เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ใช่เป็นเครื่องจักรที่ปราศจากชีวิต และไม่ได้แยกออกจากมนุษย์ ธรรมชาติเป็นโลกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ และเป็นกระบวนการกำเนิดและหล่อเลี้ยงชีวิต ชีวิตมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกชีวิต มนุษย์และธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน
การที่ขงจื่อมองว่า ฟ้าเป็นธรรมชาติที่กำเนิดโลกชีวิตนั้นเป็นแนวความคิดใหม่ในสมัยนั้น ขงจื่อเห็นว่า กระบวนการกำเนิดชีวิตของธรรมชาติก็เป็นแนวทางของฟ้า ต่อมา ความคิดนี้ได้รับการพัฒนาในหนังสือ “อี้จิง” หรือหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง โดยระบุว่า การกำเนิดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ก็คือการเปลี่ยนแปลง ฟ้าในฐานะเป็นกระบวนการกำเนิดชีวิตของธรรมชาติ เป็นแหล่งที่มาของสิ่งมีชีวิต และสิ่งที่มีค่าทุกอย่าง นี่เป็นคุณธรรมของฟ้า ดังนั้น หนังสือ “อี้จิง” ระบุว่า คุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของฟ้าและโลกคือ การสร้างชีวิต
ฟ้าในฐานะเป็นกระบวนการกำเนิดชีวิตในธรรมชาติ มีวัตถุประสงค์ในระดับลึกซึ้ง นั่นคือ กำเนิดสรรพสิ่งทั้งหลาย ปกป้องและปรับปรุงชีวิตทุกอย่าง ฟ้าได้บังเกิดมนุษย์ และมนุษย์ได้รับมอบหมายจากฟ้าให้บรรลุเป้าประสงค์ของฟ้าดังกล่าว มนุษย์จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ฟ้ามอบหมายให้ และนี่ก็เป็นความหมายของชีวิตมนุษย์ ฟ้าที่ขงจื่อกล่าวถึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นแหล่งที่มาของชีวิต ขงจื่อให้คนเราต้องมีความเกรงขามต่อฟ้า ขงจื่อกล่าวว่า บุคคลที่มีคุณธรรมต้องเคารพภารกิจของฟ้า ปฏิบัติตามภารกิจของฟ้า โดยดูแลและปรับปรุงชีวิตมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ภายใต้แนวความคิดดังกล่าวของขงจื่อ ชาวจีนในสมัยโบราณมีความเกรงขามและความศรัทธาต่อฟ้า ฟ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ฟ้าไม่ใช่เป็นเทพเจ้าที่มีความคิดของมนุษย์และอยู่เหนือธรรมชาติ แต่เป็นโลกชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด มนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาสูงสุด ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของฟ้า โดยถนอมรักชีวิต หากใครมองข้าม หรือไม่เคารพภารกิจของฟ้า โดยเข่นฆ่าหรือทำร้ายชีวิต ก็จะถูกฟ้าลงโทษ ขงจื่อยังกล่าวด้วยว่า ผู้ที่ละเมิดวัตถุประสงค์ของฟ้า สวดมนต์มากแค่ไหนก็ไม่เป็นประโยชน์ การเคารพและศรัทธาในฟ้าแสดงให้เห็นถึงรูปแบบเจตนารมณ์ทางศาสนาของชาวจีนในสมัยโบราณ ในศตวรรษ 21 คำสอนของขงจื่อที่ให้คนเรามีความเกรงขามต่อกฎของฟ้านั้นยังคงมีคุณค่าอย่างมาก เพราะสังคมมนุษย์นับวันให้ความสำคัญต่ออารยธรรมทางระบบนิเวศมากขึ้น มนุษย์ต้องรับฟังเสียงจากธรรมชาติ ต้องถนอมรักธรรมชาติที่เป็นโลกแห่งชีวิต นี่เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์
แนวความคิดปรัชญาขงจื่อเกี่ยวกับมนุษย์ : มนุษย์เราต้องปฏิบัติตาม “เหริน” และ “หลี่”
“เหริน” และ “หลี่” เป็นสองประเด็นหลักในปรัชญาสำนักขงจื่อ เมื่อฟั่นฉือ ลูกศิษย์ถามขงจื่อเกี่ยวกับ “เหริน” ขงจื่อตอบว่า “รักคน” นี่เป็นคำอธิบายที่สำคัญที่สุดของขงจื่อ ขงจื่อเน้นว่า ความรักดังกล่าวต้องเริ่มต้นจากการรักพ่อแม่ ขงจื่อบอกว่า ไม่เชื่อว่าผู้ที่ไม่รักพ่อแม่ของตนจะไปรักคนอื่นได้อย่างไร ดังนั้น ขงจื่อเห็นว่า การมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ และมีความสนิทสนมกับพี่น้องเป็นหัวใจหลักของคำว่า “เหริน” หนังสือ “จงยง” อ้างคำสอนของขงจื่อว่า “ความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับมนุษย์คือ ความรักที่มีต่อพ่อแม่” ขงจื่อยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกไม่ควรเดินทางถิ่นไกล หากไม่มีทางเลือก ก็ต้องมีความจำกัดในการเดินทางไปถิ่นไกล ขงจื่อไม่ได้หมายความว่า ห้ามไม่ให้ลูกเดินทางห่างจากพ่อแม่ไปยังพื้นที่อื่น แต่หมายความว่า ลูกต้องอย่าทำให้พ่อแม่เกิดความกังวลในช่วงที่เขาเดินทางออกจากบ้าน สิ่งที่ขงจื่ออยากเน้นคือ ลูกต้องคำนึงถึงอายุของพ่อแม่เสมอ ด้านหนึ่งต้องรู้สึกดีใจที่พ่อแม่มีสุขภาพที่ดี และมีอายุยืนยาว แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องรู้สึกห่วงใยที่พ่อแม่นับวันมีความชรามากขึ้น ดังนั้น คำว่า “เหริน” ของขงจื่อมีความหมายว่า ความรักทั่วไป ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการรักพ่อแม่
แล้วคนเราจะรักคนอื่นด้วยวิธีการใด? ขงจื่อกล่าวว่า คนเราต้องตระหนักดีว่า คนอื่นอาจมีความปรารถนาที่คล้ายคลึงกับเรา เมื่อเราอยากให้ความปรารถนาของเราปรากฏเป็นจริงขึ้น เราก็ต้องยอมให้ความปรารถนาของผู้อื่นก็สามารถปรากฏเป็นจริงขึ้นได้เช่นกัน ขงจื่อกล่าวอีกว่า สิ่งใดที่ตนไม่ชอบ ก็อย่ากระทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น ดังนั้น เราจะต้องรักตนเอง รักครอบครัว ตลอดจนรักคนในสังคม“เมิ่ง จื่อ” นักวิชาการด้านปรัชญาสำนักขงจื่อในสมัยโบราณสรุปความหมายของคำว่า “เหริน” ได้ดีที่สุด เขาว่า “รักพ่อแม่ รักประชาชน รักสรรพสิ่งทุกอย่าง”
ทุกวันนี้ คำสอนของขงจื่อที่ว่า “สิ่งใดที่ตนไม่ชอบ ก็อย่ากระทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น” ยังคงเป็นกฎระเบียบที่ประชาคมมนุษย์ต้องยึดถือส่วนคำว่า “หลี่”เกี่ยวพันกับพิธีกรรม ประเพณี และระเบียบ ขงจื่อเห็นว่า งานศพ และพิธีบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษมีความสำคัญมากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากความรู้สึกของมนุษย์ ขงจื่อกล่าวว่า ทารกจะอยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่จนกระทั่งมีอายุ 3 ขวบ ดังนั้น เด็กๆ จะรักพ่อแม่ของเขาเป็นธรรมชาติ การที่ลูกไว้ทุกข์แก่พ่อแม่ที่จากไปเป็นเวลา 3 ปีเป็นการแสดงออกถึงความรัก และความไว้อาลัยที่มีต่อพ่อแม่ สาเหตุที่ขงจื่อเน้นความสำคัญของ “หลี่” นั้น เป็นเพราะว่าขงจื่อมีเป้าประสงค์จะรักษาระเบียบความสงบเรียบร้อย และความกลมกลืนของสังคม หนังสือ “หลุนอี่ว์” ระบุว่า บทบาทของ “หลี่” คือ รักษาความกลมกลืนระหว่างประชาชน “หลี่” ยังมีความหมายเชิงปรัชญาคือ ชีวิตของปัจเจกบุคคลมีระยะเวลาจำกัด แต่ชีวิตในธรรมชาติจะไม่มีที่สิ้นสุด ชีวิตคนได้เกิดจากพ่อแม่ และสืบทอดต่อไป ในทางนี้ ชีวิตของปัจเจกบุคคลที่มีระยะเวลาจำกัดก็ได้หลอมรวมอยู่ในชีวิตของธรรมชาติที่ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ความฝันของปัจเจกบุคคลที่อยากมีชีวิตนิรันดร์ ก็จะปรากฏเป็นจริงขึ้นได้จากการประกอบงานศพ และพิธีบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ประชาชนสามารถรู้สึกถึงชีวิตที่สืบทอดไปเรื่อยๆ รวมทั้งคุณค่า และความหมายของชีวิต อีกทั้งยังได้รับการปลอบใจโดยอุปมา (yim/cai)