ปีที่แล้ว แม้เกิดการระบาดของโควิด-19อย่างรุนแรงในทั่วโลก และเศรษฐกิจจีนได้เผชิญกับการท้าทายที่ล่อแหลม แต่จีนยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนด้วยความสำเร็จ ซึ่งเท่ากับว่าจีนได้บรรลุเป้าหมายบรรเทาความยากจนที่ระบุไว้ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 แห่งสหประชาชาติล่วงหน้า 10 ปี
จากการใช้ความพยายามอย่างไม่ลดละเป็นเวลาหลายทศวรรษ จีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกได้ขจัดปัญหาความยากจนด้วยความสำเร็จอย่างมหาศาล เรื่องนี้ได้เพิ่มความหวังและกำลังใจให้แก่ประเทศต่างๆทั่วโลก ที่กำลังมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจน และการส่งเสริมการพัฒนาประเทศชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ประสบการณ์ของจีนในการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นประโยชน์มาก ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกสามารถนำไปศึกษาเรียนรู้
ก่อนอื่น ความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดในการบริหารประเทศของรัฐบาลจีนที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง
เมื่อเผชิญกับผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจีนไม่เพียงแต่ไม่ได้เลื่อนกำหนดเวลาในการบรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนในพื้นที่ชนบท แต่ยังได้เพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้คำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนสามารถปรากฏเป็นจริงขึ้นได้ตามกำหนดเวลา
หลังมีการใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปี ถึง ค.ศ. 2020 ประชากรยากจนประมาณ 100 ล้านคน ในพื้นที่ชนบทของจีนได้พ้นจากภาวะยากจนทั้งหมด บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ครอบคลุมพื้นที่ 98% ของชนบทที่มีปัญหายากจน ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างเมืองกับชนบทลดน้อยลงอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่จัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เป็นต้นมา จีนได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ รวม 1,290 แห่ง รวมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีรวม 289,800 คนไปยังพื้นที่ชนบท เพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจน
หลายปีมานี้ นักวิชาการต่างชาติจำนวนมากแสดงความเห็นว่า การนำที่เข้มแข็งของรัฐบาลจีนเป็นเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดของจีนในการขจัดความยากจน รายงานฉบับหนึ่งของคลังสมองจีนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนได้สรุปความคิดเห็นของนักวิชาการต่างชาติในสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้จีนสามารถประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนว่า จีนมีการนำของรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีการวางแผนที่ละเอียด มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา และได้บริหารจัดการปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูลดิจิทัลที่แม่นยำและถูกต้อง ตลอดจนเน้นแก้ไขปัญหาในทุกระดับชั้น
เมื่อ ค.ศ. 2012 ระหว่างจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 จีนได้กำหนดเป้าหมายบากบั่นต่อสู้ 100 ปีสองประการ และเป้าหมาย 100 ปีแรกก็คือ จะสร้างสังคมพอกินพอใช้อย่างรอบด้านให้สำเร็จภายใน ค.ศ.2020 หลังจากนั้น รัฐบาลกลางและท้องถิ่นได้ใช้นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับสภาพของแต่ละพื้นที่ และสอนวิธีทำมาหากินให้แก่แต่ละครอบครัวที่มีปัญหายากจน ทำให้ประชาชนที่มีปัญหายากจนทุกคนสามารถพึ่งลำแข้งของตนเองในการทำมาหากิน เพื่อพ้นจากภาวะยากจน นโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหายากจนดังกล่าวรวมถึงสร้างโอกาสการทำงานให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น จัดตั้งแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรของพื้นที่ชนบทที่ยากจน และพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบท
นางมาร์ติน ไรเซอร์ หัวหน้าสำนักงานประจำประเทศจีนของธนาคารโลกแสดงความคิดเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกในการแก้ไขปัญหายากจน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงเน้นพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทที่ยากจน เพื่อช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่เหล่านั้นพ้นจากภาวะยากจน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนขั้นพื้นฐานที่ทำให้จีนสามารถขจัดความยากจนได้
นายโรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ คุห์น ประธานมูลนิธิคุห์นสหรัฐฯแสดงความคิดเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่จีนสามารถประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น เป็นเพราะว่าจีนมีระบบบริหารประเทศที่เข้มแข็ง มีนโยบายบรรเทาความยากจนที่ตอบโจทย์ได้ นอกจากนี้ การปฏิบัติภารกิจจัดการปัญหาความยากจนมีความโปร่งใส และได้รับการสนับสนุน ความร่วมมือจากประชาชนทั่วประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจขจัดความยากจน อำเภอที่เพิ่งพ้นจากภาวะยากจนจะมีระยะผ่าน 5 ปี ภายในระยะผ่าน รัฐบาลยังคงจะใช้นโยบายสนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ต่อไป เพื่อเสริมสร้างและต่อยอดความสำเร็จในการขจัดความยากจน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป รัฐบาลจะค่อยๆ หันไปใช้นโยบายสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชนบทให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นักวิชาการหลายประเทศชื่นชมจีนที่ได้ประสบความสำเร็จเชิงประวัติศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความยากจน และเห็นว่า จีนได้สร้างแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหายากจนให้แก่ทั่วโลก นโยบายขจัดความยากจน และส่งเสริมการพัฒนาของจีนได้เสนอแนวทางที่ถูกต้องให้แก่ประเทศต่างๆทั่วโลกในการแก้ไขปัญหายากจน ด้วยเหตุนี้ มาตรการในการแก้ไขปัญหายากจนของจีนจึงน่าศึกษาเรียนรู้สำหรับประเทศที่กำลังหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน
(yim/cai)