”สองสภา”จีนในสายตาของข้าพเจ้า—สัมภาษณ์ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2021-03-11 09:02:46 | CMG
Share with:

การประชุม “สองสภา” จีนประจำปี 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-11 มีนาคม การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษที่ปี 2021 เป็นวาระครบรอบ100 ปี แห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นวาระที่จีนบรรลุเป้าหมายระยะ 100 ปีแรก (นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1921) คือ "การสร้างสังคมพอกินพอใช้ในทุกด้าน" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นวาระจุดเริ่มต้นใหม่ของจีนในการมุ่งสู่เป้าหมายระยะ 100 ปีประการที่สอง (นับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศจีนใหม่ในปี 1949)  คือ "การสร้างประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย มีอารยธรรม สามัคคี และสวยงาม " นอกจากนี้ ปี 2021 ยังเป็นปีแรกของการประกาศใช้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14" ของจีนด้วย โดยการประชุมสองสภาปีนี้จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและมาตรการสำคัญต่าง ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตของจีนทั้งระยะ 1 ปี และ 5 ปี ตลอดจน15 ปี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจีน และเป็นที่จับตามองของทั่วโลกด้วย

”สองสภา”จีนในสายตาของข้าพเจ้า—สัมภาษณ์ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์  นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย_fororder_2

โอกาสนี้ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์  นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) ในประเด็น “ การประชุมสองสภาจีนในสายตาของข้าพเจ้า”ดังต่อไปนี้

การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติและสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีนชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 หรือ การประชุมสองสภา ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในโลกการเมืองของจีน เนื่องจากการประชุมแต่ละครั้งจะว่าด้วยการทบทวนผลงานรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา การวางแนวทางสำหรับอนาคต เสริมด้วยการสื่อสารกับประชาชนในประเทศเกี่ยวกับนโยบายด้านต่างๆ พร้อมกับทำให้โลกได้รับทราบความคืบหน้าของจีน

สาระการประชุมมีรายละเอียดที่น่าสนใจและครอบคลุมประเด็นพัฒนาอันหลากหลาย หากสรุปในภาพรวม จะพบว่าจีนได้ใช้การประชุมครั้งนี้ตอกย้ำความสำเร็จในวันวานพร้อมกับสานฝันสู่อนาคต

แม้เผชิญกับวิกฤติที่ถาโถมตลอดปีโดยเฉพาะภัยจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่จีนกลับสามารถควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ให้บั่นทอนเศรษฐกิจภายใน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมินิสต์จีนออกคำสั่งและวางแผนงานรับมือด้วยตนเอง มีการตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการให้เหมาะกับพื้นที่ ขณะที่โลกรอบข้างต้องปิดตัวเพราะการค้า/บริการหลายอย่างไม่สามารถเดินหน้า จีนกลับสามารถสวนทางแนวโน้มดังกล่าวด้วยการเป็นประเทศที่บรรลุอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวก ทั้งยังประกาศชัยชนะเหนือสงครามต่อสู้ความยากจน ภัยจากการระบาดและความเสียหายในระบบเศรษฐกิจโลกจึงไม่ขวางกั้นการพัฒนาของจีนได้

ความสำเร็จประการนี้เป็นผลมาจากแนวปฏิบัติที่จริงจัง จีนได้ประกาศในการประชุมว่าไม่เคยละความพยายามที่จะรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างการผลิตและการบริโภค นั่นทำให้ตลาดภายในของจีนคงตัวอยู่ได้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มจากระดับต่ำกว่า 7 ล้านล้านหยวนมาเป็นกว่า 100 ล้านล้านหยวน จีนยังประกันความมั่นคงในการทำงานและความเป็นอยู่ให้แก่ประชาชนด้วยเห็นว่าจะทำให้ประชาชนเป็นพลังทางสังคม การเสริมสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้งรวมถึงการปรับปรุงความเป็นอยู่ในเขตชนบทก็เป็นตัวอย่างความสำเร็จเช่นกัน งานสำรวจดวงจันทร์ สำรวจทะเลลึก พัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ การสื่อสารควอนตัม ฯลฯ ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประชากรยากจนในชนบทจำนวน 55.75 ล้านคนได้หลุดพ้นจากสภาวะยากไร้ ซึ่งรวมถึงประชากรที่ขึ้นทะเบียนผู้ยากจนกว่า 9.6 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากลำบากที่มาจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

เมื่อต้องสานฝันสู่อนาคต จีนได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการฟื้นฟูชนชาติจีนให้ยิ่งใหญ่ในเวทีโลกด้วยการรักษาพลังทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมนวัตกรกับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขยายตลาดภายใน เพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานระหว่างภูมิภาค ปรับปรุงชนบทอย่างรอบด้าน ใส่ใจการพัฒนาตามแนวทางยั่งยืนโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ความตั้งใจเหล่านี้จะทรงพลังมากขึ้นไปอีกเพราะปี ค.ศ. 2021 เป็นวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยรัฐบาลจีนหมายมั่นที่จะเดินตามฝันสำหรับระยะ 100 ปีถัดไปด้วยแนวทาง “สร้างประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย มีอารยธรรมสามัคคี และสวยงาม"

ด้วยเหตุนี้ การประชุมสองสภาในรอบปี 2021 จึงมีนัยสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก ผลการประชุมช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนได้เดินหน้าต่อไปโดยไม่ต้องหวั่นเกรงความไม่แน่นอนจากโรคระบาด หรือ แรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ ประการที่สอง ทั้งความสำเร็จที่มีกับความฝันของจีนกำลังนำไปสู่ชัยชนะทางความเชื่อมั่นระดับโลก เพราะมันหมายถึงความสามารถในการเป็นผู้นำคู่ขนานกับขั้วอำนาจเดิม

ต้องไม่ลืมว่าจีนมุ่งหมายที่จะผลักดันโลกาภิวัตน์ทางเลือกดังสะท้อนในแผนการเชื่อมโยง Belt and Road Initiative แต่การจะเป็นเสาหลักได้ จีนจะต้องกุมความเชื่อมั่นจากชาติหุ้นส่วนซึ่งอาจเคยชินกับระบบโลกแบบเดิมที่พึ่งพิง IMF, WTO, World Bank และองค์กรฝั่งตะวันตก ทั้งยังอาจลังเลจากกระแสบั่นทอนบางอย่าง ทว่าการรักษาเส้นทางเศรษฐกิจแม้ในภาวะโรคระบาดบวกกับพลังในการพัฒนาทำให้จีนกำลังกลายเป็นแบบอย่างการจัดการสำหรับหลายชาติ ยังไม่นับความสนใจที่จะขยายสัมพันธ์กับจีนเพื่อประโยชน์ในระยะยาว

เหนืออื่นใด สาระการประชุมไม่ได้จำกัดเพียงแค่ศักยภาพความเป็นผู้นำ แต่หลายช่วงตอนกล่าวถึงสันติภาพและการเปิดประเทศโดยเฉพาะนโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่ให้มีการปกครองตนเองในระดับสูงอย่างทั่วถึงและถูกต้อง  จีนประกาศอย่างมั่นใจว่าจะส่งเสริมการรวมชาติอย่างสันติในกรณีไต้หวัน รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์กับทั่วโลกอย่างแข็งขันโดยเน้นความเที่ยงธรรมและสมเหตุสมผล อันจะนำไปสู่การกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับภัยพิบัติใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้คือสัญญาณที่จีนต้องการสื่อไปยังชาวโลกเพื่อแลกกับความไว้วางใจ เชื่อว่าบทสรุปการประชุมจะช่วยเชื้อเชิญให้โลกได้หันมามองความตั้งใจจริงในแบบฉบับของจีน

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

陆永江