วันจันทร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ชาวปักกิ่งตื่นเช้ามาพบว่า โลกนอกหน้าต่างกลายเป็นสีเหลืองเทาไปหมด พายุทรายที่ไม่มีให้เห็นนานหลายปีได้หวนกลับมาอีก
ข้อมูลจากสถานีอุตุนิยมวิทยาส่วนกลางของจีนแสดงว่าในวันดังกล่าว พื้นที่ภาคเหนือของจีน ได้แก่ กรุงปักกิ่ง มณฑลเหอเป่ย มณฑลซานซี มณฑลกันซู่ และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ได้เกิดพายุทรายพัดเข้าปกคลุมไปทั่ว บางพื้นที่ทัศนวิสัยต่ำกว่า 500 เมตร นับเป็นพายุทรายขนาดใหญ่ครั้งแรกช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ และรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีด้วย
เมื่อกล่าวถึง “พายุทราย” ย่อมเป็นเรื่องที่ชาวไทยไม่คุ้นเคยแน่ๆ แต่กลับไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลยสำหรับชาวปักกิ่ง เพราะตั้งแต่ครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 ปักกิ่งมักจะเกิดพายุทรายพัดปกคลุมในช่วงฤดูใบไม้ผลิอยู่เสมอ เวลาเดินไปข้างนอกสูดอากาศหายใจจะรู้สึกได้กลิ่นฝุ่น ส่วนบนรถที่จอดทิ้งไว้ก็จะเห็นฝุ่นละอองปกคลุมอย่างเห็นได้ชัด แต่พร้อมไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันและจัดการทะเลทรายอย่างมีประสิทธิภาพของจีน หลายปีมานี้ พายุทรายค่อยๆห่างหายไปจากสายตาของชาวบ้านแล้ว และผู้คนอดถามไม่ได้ว่า จีนได้ลงมือโครงการปลูกป่าไม้ป้องกันทะเลทรายในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากว่า 40 ปีแล้ว ทำไมพายุทรายจึงยังพัดแผ่ปกคลุมรุนแรงอย่างนี้อีก?
ตามการวิเคราะห์ของหน่วยงานตรวจวัดที่เกี่ยวข้องของจีน ต้นกำเนิดพายุทรายครั้งนี้มาจากต่างประเทศ จีนเป็นเพียง “ทางผ่าน” โดย 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดพายุทราย ได้แก่ ทะเลทราย ลมแรงและพลังความร้อนซึ่งครั้งนี้มีครบหมดพอดี จึงได้เกิดพายุทรายแรงสุดในรอบ 10 ปีของจีน ผู้เชี่ยวชาญก็กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้พบได้ไม่มาก และจะไม่กลายเป็นสภาพปกติ ประชาชนทั่วไปไม่ต้องกังวลเกินควร
ความจริงแล้ว หลายปีมานี้ จีนให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมทะเลทรายได้ประสบผลสำเร็จ ฝุ่นทรายในอากาศของจีนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงแต่อำนวยประโยชน์แก่จีน หากได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการปรับปรุงคุณภาพอากาศส่วนภูมิภาคด้วย
สถิติจากมหาวิทยาลัยบอสตันแสดงว่า จีนกำลังกลายเป็นผู้นำการปลูกป่าทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2000 อัตราพืชคลุมดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ซึ่งจีนได้สร้างคุณูปการต่อดัชนีดังกล่าวถึงร้อยละ 25 บทบาทการลดฝุ่นทรายในอากาศจากการปลูกป่าและจัดการทะเลทรายก็ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ด้วย
โดยเฉพาะเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน ซึ่งเป็นการปกครองระดับมณฑล อันมีสภาพแห้งแล้งเป็นทะเลทรายรวมอยู่มากที่สุดของจีน ได้ยึดแนวคิดให้ความสำคัญกับระบบนิเวศก่อน และพัฒนาแบบสีเขียว เพิ่มการฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลทราย
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ปี 2016-2020) พื้นที่เป็นทะเลทรายของเขตปกครองตนเองมองโกเลียในลดน้อยลง ได้จัดการทะเลทรายเนื้อที่ 12 ล้านโหม่ว (ประมาณ 8,000 ตารางกิโลเมตร) ปัญหาการขยายตัวของทะเลทรายได้รับการยับยั้ง ในท้องถิ่นได้เลือกปลูกพืชทนแล้งในทะเลทรายที่มีความหลากหลาย ขณะเดียวกันก็ดำเนินการนวัตกรรมทางเทคนิค เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันทะเลทรายด้วย
กล่าวได้ว่า ในหนทางการป้องกันและจัดการทะเลทรายของจีนนั้น จีนได้สำรวจและสรุปประสบการณ์ล้ำค่าจากปฏิบัติการของตนเอง ส่วนเหตุการณ์พายุทรายครั้งนี้ก็แสดงว่า เพียงทำเรื่องของตนเองให้ดียังไม่พอ เรื่องที่เกี่ยวข้องถึงทั่วโลกนั้น ต้องจับมือกันถึงจะสำเร็จ การป้องกันและจัดการทะเลทรายก็เป็นเช่นนี้ ความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศ การจัดการสิ่งแวดล้อมส่วนภูมิภาคยังมีหลายเรื่องต้องทำ และยังมีหลายเรื่องทำได้อีก ประสบการณ์ของจีนด้านการป้องกันและจัดการทะเลทรายก็สามารถเป็นตัวอย่างให้ประเทศที่เกี่ยวข้องอ้างอิง โดยประเทศต่างๆ ควรจับมือกันผลักดันการจัดการและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่วนภูมิภาคและทั่วโลก ร่วมหายใจเข้าและออกด้วยกัน เชื่อมั่นว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีอากาศที่สะอาดโปร่งใสมากยิ่งขึ้นแน่นอน
(Yim/Cui)