วันที่ 2 เมษายน ศาสตราจารย์ คิชอร์ มาห์บูบานี (Kishore Mahbubani) นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษาของ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อดีตนักการทูตสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Le temps ของสวิสเซอร์แลนด์ ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ และการพัฒนาของจีน โดยได้แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและถูกต้อง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการคาดการณ์ว่าจีนจะชนะ และการทำตัวเป็นผู้ปกครองโลกของสหรัฐฯจะสิ้นสุดลงนั้นเกินความจริงหรือไม่? นายคิชอร์ ตอบว่า เขาไม่ได้มองว่าจีนจะชนะ เพราะสหรัฐฯยังคงเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในโลก จึงอย่าประเมินสหรัฐฯต่ำเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรประเมินจีนต่ำเกินไปเช่นกัน แท้ที่จริงแล้ว สหรัฐฯ ได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงหลายเรื่อง เช่น ได้ทำการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีน โดยไม่มีการชี้นำทางยุทธศาสตร์ใดๆ สหรัฐฯคงคิดว่าการแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ คล้ายคลึงกับการชิงอำนาจความเป็นใหญ่ในโลกกับอดีตสหภาพโซเวียต แต่จีนไม่ใช่สหภาพโซเวียต
ศาสตราจารย์คิชอร์ กล่าวด้วยว่า ความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรับฟังคำปราศรัยของนายเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ที่กล่าวในงานครั้งหนึ่งเมื่อปี 2018 เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเดินหมากล้อม นายคิสซิงเจอร์เห็นว่า จีนมักจะพิจารณาประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว
นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่ผ่านมานึกว่า สหรัฐฯจะสามารถเปลี่ยนให้จีนเป็นประเทศที่เรียกว่า “ประเทศเสรี และประชาธิปไตย” ได้ด้วยวิธีการท้าทายจีนทางด้านเศรษฐกิจ และนายปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และนายไมค์ เพนซ์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ยังเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถโค่นอำนาจรัฐของจีนได้อีกด้วย นายคิชอร์มองความเห็นดังกล่าวของนักการเมืองสหรัฐฯ เป็นเรื่องเพ้อฝัน ไร้สาระ และหยิ่งยโส
เขาชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯที่นำโดยนายโจ ไบเดนอาจกำลังเดินตามความผิดพลาดในทำนองเดียวกัน นายโจ ไบเดนมีความคิดว่า นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ต่อจีนส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ยกเว้นนโยบายคว่ำบาตรทางการค้าต่อจีน ดังนั้นประธานาธิบดีไบเดนจึงไม่ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อจีน แต่ข้อเท็จจริงคือ นโยบายต่อต้านจีนของรัฐบาลทรัมป์ ไม่เพียงแต่ไม่ได้ทำให้จีนอ่อนแอลง แต่กลับทำให้จีนเข้มแข็งมากขึ้น
ศาสตราจารย์คิชอร์ มาห์บูบานี กล่าวว่า สหรัฐฯนึกว่าจะสามารถชนะในการแข่งขันกับจีน เพราะคล้ายกับตอนชิงอำนาจความเป็นใหญ่ในโลกกับอดีตสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา” ของสหรัฐฯ จะสามารถเอาชนะระบบสังคมอื่นๆ ตลอดไป แต่ที่จริงแล้ว สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาอีกแล้ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากร 50% ที่มีรายได้ต่ำสุดในสหรัฐฯ มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชนชั้นกรรมกรชาวผิวขาวตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง ในขณะที่จีนกลับตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ความสำเร็จของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความได้เปรียบทางระบบคือ มีโมเดลที่มีประสิทธิภาพในการคัดเลือกบุคลากร และจัดให้บุคลากรที่มีคุณภาพอยู่ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในการบริหารประเทศ
วิธีบริหารประเทศของจีนมีคุณภาพสูงกว่าสหรัฐฯ ทั้งนี้เห็นได้จากวิธีการของทั้งสองประเทศในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 500,000 คน ขณะที่จีนมีไม่เกิน 5,000 คน สหรัฐฯต้องเข้าใจว่า จีนในปัจจุบันไม่ใช่อดีตสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน สหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติการที่คล้ายกับอดีตสหภาพโซเวียตมากกว่า คือ กระบวนการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ มีความตายตัว ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สหรัฐฯยกทัพเข้ารุกรานประเทศอิรักเมื่อปี 2003 แต่จีนกลับใช้ปัญญาในการกำหนดนโยบายป้องกันประเทศ เช่น ตัดสินใจไม่เพิ่มปริมาณสำรองของอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น
(bo/cai)