เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวชื่อดังของตะวันตกแห่งหนึ่งได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “อินเดียต้องผวา จีนวางแผนสร้างอภิมหาเขื่อนยักษ์ที่ทิเบต” ซึ่งสื่อมวลชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางแห่งก็ได้แปลรายงานข้อความที่เกี่ยวข้อง พร้อมประเมินการต่างๆตามเนื้อหาในบทความดังกล่าวแต่เพียงเท่านั้น
เราทุกคนต่างตระหนักดีว่า บทความใดก็ตามควรมีความเป็นภววิสัย เป็นกลางและเที่ยงธรรม หากรับฟังแต่ฝ่ายเดียว บทความนั้นย่อมมีความเอนเอียงหรือผิดพลาด ยากที่จะสะท้อนให้เห็นถึงโฉมหน้าทั้งหมดที่เป็นจริง ซึ่งผู้เขียนได้อ่านทวนซ้ำรายงานที่แปลออกมาอย่างละเอียดแล้ว เห็นว่ารายงานฉบับนี้เอ่ยถึงแต่คำแถลงของอินเดียเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และที่น่าเหลวไหลก็คือ ยังได้อ้างอิงคำพูดของบุคคลที่ว่าเป็น “รัฐบาลทิเบตลี้ภัย” ผู้คนทั่วไปที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์คงทราบว่า “รัฐบาลทิเบตลี้ภัย” เป็นคำกล่าวที่ผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง ทั่วโลกไม่มีประเทศใดยอมรับ และไม่อาจใช้ในนามของประชาชนทิเบต การนำคำพูดจากบุคคลเหล่านี้มาเติมเนื้อหารายงาน ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เรื่องการพัฒนาสถานีไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำยาร์ลุงซางโปตอนล่าง ประเทศที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำตอนบนและตอนล่างมีทั้งจีน อินเดียและบังคลาเทศ ณ ที่นี้ เรามาลองฟังการชี้แจงของจีนบ้าง
เมื่อเดือนที่แล้ว การประชุมสองสภาประจำปีของจีนเสร็จสิ้นลง โดยที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ได้ผ่านมติเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) และร่างเป้าหมายระยะไกลปี 2035 โดยร่างดังกล่าวระบุว่า จะดำเนินการก่อสร้างโครงการสำคัญที่เสริมสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพิ่มสมรรถภาพ และอำนวยประโยชน์ในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสถานีไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำยาร์ลุงซางโปตอนล่าง นี่เป็นโครงการสำคัญหนึ่งของจีนในการสร้างสรรค์โครงสร้างการพัฒนาที่ยึดแนวคิดการพัฒนาใหม่ การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจีนที่ต้องแบกรับ ส่วนการดำเนินโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและระบบนิเวศต่อประเทศลุ่มแม่น้ำตอนล่างอย่างที่สื่อมวลชนต่างชาติรายงานหรือเปล่า คำตอบคือไม่
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า แม่น้ำยาร์ลุงซางโป(Yarlung Zangbo River) มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลจากตะวันตกสู่ตะวันออก ผ่านตอนใต้ของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต และออกจากดินแดนจีนที่ปาซีข่า(Pasighat) ซึ่งชื่อเรียกได้เปลี่ยนเป็นแม่น้ำพรหมบุตร ต่อจากนั้นได้ไหลผ่านอินเดียกับบังคลาเทศ และออกสู่อ่าวเบงกอล เพราะฉะนั้น แม่น้ำยาร์ลุงซางโปนับเป็นแม่น้ำสากลแห่งสายหนึ่ง
บทความเรื่องการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของแม่น้ำสากลในเขตหิมาลัยที่ประกาศโดยสภาวิทยาศาสตร์จีนระบุว่า แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา และแม่น้ำยาร์ลุงซางโป-พรหมบุตร ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยนั้น ปริมาณการไหลของแม่น้ำ 3 สายในจีนคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.83, 2.55 และ 14.61 ของปริมาณการไหลทั้งหมดของแม่น้ำทั้ง 3 สาย นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์พลังงานจีนรายงานว่า จากข้อมูลสถิติ ปัจจุบัน การพัฒนาทรัพยากรไฟฟ้าพลังน้ำในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เป็นเพียงร้อยละ 1 ของปริมาณที่สามารถพัฒนาได้ทางเทคนิค จึงจะเห็นได้ว่า การพัฒนาและใช้ทรัพยากรน้ำในจีนจะไม่กระทบต่อประเทศที่อยู่แม่น้ำตอนล่างอย่างแท้จริง สื่อมวลชนต่างชาติที่ตีความว่า จีนอาจครอบงำทรัพยากรน้ำบริเวณเอเชียใต้นั้น จึงไม่สอดคล้องกับเรื่องจริง
โดยความเป็นจริงแล้ว จีนกับประเทศโดยรอบได้มีกลไกที่ดีในการใช้ทรัพยากรข้ามชาติและแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างสมเหตุสมผลอยู่แล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จีนนำเสนอข้อมูลอุทกศาสตร์ของสถานีอุทกศาสตร์สากล 2 แห่งบนแม่น้ำล้านช้างแก่ประเทศลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศและคณะกรรมการแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ จีนยังได้เปิดตัวเว็บไซต์แบ่งปันข้อมูลความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-โขง ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเอื้ออารีและจริงใจของจีนในฐานะประเทศต้นน้ำ ซึ่งได้พยายามยกระดับการเปิดกว้างและความโปร่งใสของความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศลุ่มน้ำ
ดั่งคำแถลงของนางฮว่า ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนที่กล่าวไว้ว่า จีนยึดหลักที่มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาและใช้แม่น้ำข้ามชาติมาโดยตลอด ดำเนินนโยบายการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ควบคู่กันไป โครงการใดก็ตามต้องผ่านการวางแผนและถกหารือตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อลุ่มแม่น้ำตอนล่างอย่างสมบูรณ์ พร้อมให้ความสำคัญกับประโยชน์ของลุ่มแม่น้ำทั้งตอนบนและตอนล่าง ขณะนี้ การพัฒนาในแม่น้ำยาร์ลุงซางโปตอนล่างยังอยู่ในช่วงการวางแผนระยะแรกและถกหารือกันอยู่ ภายนอกไม่จำเป็นต้องตีความเรื่องนี้เกินควร หลายปีมานี้ จีนกับอินเดียและบังคลาเทศได้ดำเนินความร่วมมือในด้านการรายงานข้อมูลอุทกศาสตร์ ป้องกันน้ำท่วมบรรเทาภัยพิบัติและจัดการเหตุฉุกเฉิน จีนจะรักษาการติดต่อกับอินเดียและบังคลาเทศผ่านช่องทางที่มีอยู่แล้วต่อไป
“การดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน มีชะตากรรมเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด” พื้นที่รอบหิมาลัยที่แม่น้ำยาร์ลุงซางโป-พรหมบุตรไหลผ่านนั้น มีประชากรอาศัยอยู่มาก ตลาดที่ใหญ่ และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจสามารถเกื้อกูลชดเชยซึ่งกันและกัน ขอเพียงประเทศที่เกี่ยวข้องเสริมสร้างความเชื่อถือทางการเมือง การพัฒนาความร่วมมือรอบเขตหิมาลัยย่อมจะกลายเป็นแบบฉบับด้านความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ส่วนแม่น้ำยาร์ลุงซางโป-พรหมบุตรซึ่งเป็นแม่น้ำสากลแห่งมิตรภาพ ก็ย่อมจะนำความผาสุกมากยิ่งขึ้นมาสู่ชาวบ้านบริเวณลุ่มแม่น้ำแน่นอน
(Yim/Cui)