นักวิชาการอังกฤษชี้ กลุ่มประเทศจี 7 ต้องพัฒนาความร่วมมือกับจีน

2021-06-13 13:17:15 | CRI
Share with:

วันที่ 11 มิถุนายน   การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศจี 7 จัดขึ้นที่เมืองชายฝั่งคาร์บิสเบย์   ในเขตการปกครองพิเศษคอร์นวอลล์ (Cornwall) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ  กลุ่มประเทศจี 7 ถือโอกาสนี้ยกประเด็นจีนขึ้นมาพูดคุยระหว่างการประชุม

นาย Jacques นักวิชาการชื่อดังของอังกฤษ นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แสดงความเห็นว่า   การกระทำดังกล่าวของกลุ่มประเทศจี 7 ไม่เป็นไปตามกระแสแห่งยุคสมัยที่ต้องการความร่วมมือแบบมีชัยชนะร่วมกัน   และยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มประเทศจี 7 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาคมโลกในปัจจุบัน  แนวทางที่ถูกต้องสำหรับกลุ่มประเทศจี 7 คือ  แสวงหาการพัฒนาความร่วมกันกับจีนไม่ใช่พยายามยับยั้งและกีดกันจีน

นาย Jacques ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหวาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า   สหรัฐฯ พยายามจะดึงประเทศพันธมิตรเข้ามาร่วมยับยั้งการพัฒนาของจีน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มประเทศจี 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯมีความกังวลถึงฐานะของตัวเองในสังคมโลกที่กำลังลดต่ำลง  กลุ่มประเทศนี้ไม่มีความมั่นใจเหมือนที่เคยมีในอดีต  อำนาจและอิทธิพลของพวกเขาถูกจำกัดลงอย่างมาก 

นาย Jacques กล่าวอีกว่า  กลุ่มประเทศจี 7 เคยมีบทบาทเป็นผู้นำการพัฒนาเศรษฐกิจโลก   แต่ปัจจุบัน  กลุ่มประเทศนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น  อำนาจของกลุ่มประเทศนี้ลดน้อยลงมาก   วิกฤตการเงินระหว่างประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของกลุ่มประเทศนี้ 

นาย Jacques ยังแสดงความคิดเห็นว่า   ชาวโลกตระหนักมานานแล้วว่า  กลุ่มประเทศจี 20 เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความกว้างขวาง และสามารถเป็นตัวแทนมากขึ้น จีนในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การดังกล่าวได้แสดงบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการเงินโลก ในปี 2008  แต่ปัจจุบันสหรัฐฯ มุ่งเน้นจะกีดกันจีน

นาย Jacques  เน้นว่าสาเหตุที่กลุ่มประเทศจี 7 ไม่สามารถเปลี่ยนกระแสการพัฒนา ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มประเทศนี้มีกำลังไม่เพียงพอเท่านั้น  หากยังเป็นเพราะกลุ่มประเทศนี้มีความขัดแย้งกันเองภายใน และหนึ่งในประเด็นความขัดแย้งก็คือท่าทีต่อจีน  หลายประเทศในยุโรปไม่ยอมรับแนวคิดของสหรัฐฯในการต่อต้านจีน  พวกเขาไม่ต้องการยับยั้งการพัฒนาของจีน  สำหรับปัญหาเศรษฐกิจโลก   ภายในกลุ่มประเทศจี 7 ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  จุดยืนของสหรัฐฯและยุโรปมีความแตกต่างกันมาก   เช่น  อิตาลีเห็นด้วยและเข้าร่วมความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เยอรมนีมีการไปมาหาสู่กันทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนโดยตรงกับจีน 

นาย Jacques ชี้ว่าหากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายเอกภาคี และต้องการยึดตำแหน่งประเทศมหาอำนาจในโลกต่อไป  ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปจะทวีความรุนแรงขึ้น  ยุโรปไม่ควรเดินตามแนวคิดของสหรัฐฯ ในการยับยั้งการพัฒนาของจีน  เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง 

นาย Jacques ยังทิ้งท้ายว่าหากมองในระยะสั้น    ท่าทีของสหรัฐฯ คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง  แต่หากมองในระยะยาว  สหรัฐฯย่อมต้องปรับเปลี่ยนจุดยืน  โดยหันมาปฏิบัติต่อจีนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  แม้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดหากสหรัฐฯไม่หันมาร่วมมือกับจีน    ความร่วมมือทั่วโลกคงเกิดขึ้นได้ยาก

(bo/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-04-2567)

蔡建新