ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาระหว่างจีน-อาเซียน ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เนื้อหาแห่งความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน-อาเซียนได้รับการเสริมสร้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือในด้านต่างๆได้ประสบผลสำเร็จมากมาย จนได้กลายเป็นต้นแบบความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จและมีพลังชีวิตมากที่สุดในความร่วมมือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จีนและอาเซียนได้เริ่มกระบวนการเจรจาเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1991 และจีนได้กลายเป็นคู่เจรจาที่ครอบคลุมรอบด้านของอาเซียนเมื่อ ค.ศ. 1996 ในบรรดาคู่เจรจาทั้งหลายของอาเซียน จีนได้สร้าง“ครั้งแรก”หลายประการ เช่น ประเทศแรกที่เข้าร่วมสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ประเทศแรกที่สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับอาเซียน, ประเทศแรกที่เจรจากับอาเซียนเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรี และเป็นประเทศแรกที่สนับสนุนอาเซียนในฐานะเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างชัดเจน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน และได้ชี้ย้ำหลายครั้งถึงทิศทางในการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
เดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวสุนทรพจน์สำคัญที่รัฐสภาอินโดนีเซีย และเสนอแนวคิด "ร่วมมือกันสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น" โดยเน้นว่าต้องยืนหยัดในการรักษาคำมั่นสัญญา ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ดำเนินความร่วมมือเพื่อชัยชนะร่วมกัน คอยเป็นหูเป็นตาและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เปิดกว้างและหลอมรวมซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของกัน เป็นมิตรที่ดีของกัน และเป็นหุ้นส่วนที่ดีของกันที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขแบบลงเรือลำเดียวกัน ความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้รับความเห็นชอบจากผู้นำของประเทศต่างๆอาเซียน
วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.2020 ปธน.สี จิ้นผิงได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน และการประชุมสุดยอดว่าด้วยการค้าและการลงทุนจีน-อาเซียนครั้งที่ 17 โดยย้ำว่าจีนยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน กุมโอกาสจากการปฏิวัติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่ทั้งสองฝ่ายมีส่วนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือที่มีชัยชนะร่วมกัน สร้างไฮไลท์ความร่วมมือใหม่มากยิ่งขึ้นในด้านเมืองอัจฉริยะ, 5G, ปัญญาประดิษฐ์, อีคอมเมิร์ซ, บิ๊กดาต้า, บล็อคเชน, การแพทย์ทางไกล และอื่นๆ เสริมสร้างการรักษาความปลอดภัยทางด้านข้อมูลและการประสานงานทางด้านนโยบาย เพื่อสร้างแรงผลักดันใหม่ๆ ให้มากยิ่งขึ้นแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองฝ่าย
ปัจจุบันจีนและอาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 684,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่า 80 เท่าในช่วง 30 ปี และในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยอดมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างจีนกับอาเซียนอยู่ที่ 2.66 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 27.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว
ค.ศ. 2019 การเดินทางไปมาหาสู่กันของประชาชนจีนกับอาเซียนมีมากกว่า 65 ล้านคน และแต่ละสัปดาห์มีเที่ยวบินระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 4,500 เที่ยว ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนนักเรียนซึ่งกันและกันมากกว่า 200,000 คน และได้จับคู่เป็น “เมืองพี่น้อง”รวมมากกว่า 200 คู่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและอาเซียนได้อนุมัติเอกสารความร่วมมือหลายฉบับเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น วิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ค.ศ. 2030, แถลงการณ์ร่วมจีน-อาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับ “แผนแม่บทการเชื่อมโยงโครงข่ายอาเซียน 2025” และแผนการปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมจีน-อาเซียนว่าด้วยความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์(ค.ศ.2021-2025) และเอกสารผลลัพธ์อื่นๆ นอกจากนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ริเริ่มโดยอาเซียนและมีกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสมาชิกหลักมีหวังที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ จีนได้เสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาอนุมัติ RCEP อย่างเป็นทางการ ได้กลายเป็นประเทศสมาชิกรายแรกนอกอาเซียนที่เสร็จสิ้นกระบวนการอนุมัติอย่างเป็นทางการ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของ "เส้นทางสายไหมทางทะเล" มาตั้งแต่สมัยโบราณ จีนถืออาเซียนอยู่ลำดับต้นๆในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศรอบข้าง และเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการร่วมสร้าง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ด้วยคุณภาพสูง นับตั้งแต่มีการเสนอแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นต้นมา โครงการสำคัญของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก เช่น ทางรถไฟสายจีน-ลาว และทางรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุง เป็นต้น ได้ดำเนินไปอย่างคงเส้นคงวา ซึ่งจะนำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ประชาชน 2,000 ล้านคนใน 11 ประเทศของจีนและอาเซียน
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นจุดเด่นในการหลอมรวมทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน ปีที่แล้วเป็นปีแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน ทั้งสองฝ่ายได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือหลายโครงการในด้านเมืองอัจฉริยะและอื่นๆ "สมุดปกขาวว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน" แสดงให้เห็นว่า นับถึงปีที่แล้ว จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนมีถึง 989 ล้านคน และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของอาเซียนใกล้ถึง 500 ล้านคน จีนกับอาเซียนมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ประสบผลสำเร็จที่เด่นชัดในด้านการร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอุตสาหกรรมทางดิจิทัล
นายลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า สัดส่วนของมูลค่าผลผลิตเศรษฐกิจดิจิทัลในจีดีพีของอาเซียน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ในปี 2015 มาเป็น 8.5% ในปี 2025 ประเทศจีนที่อยู่ในแถวหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จึงเป็นพันธมิตรที่เหมาะสมของอาเซียนในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเอาชนะความยากลำบากด้วยกัน ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือในการต่อต้านโรคระบาดของทั่วโลก ในช่วงเวลาวิกฤตในการต่อสู้กับโรคระบาดของจีน ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ให้การสนับสนุนอันมีค่ายิ่งและความช่วยเหลือแก่จีนอย่างทันท่วงที หลังจากควบคุมโรคระบาดภายในประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ จีนก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแก่กลุ่มประเทศอาเซียนเช่นกัน จากสถิติจนถึงขณะนี้ จีนได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประเทศอาเซียนแล้วกว่า 100 ล้านโดส ตลอดจนวัตถุสิ่งของป้องกันโรคระบาดและความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีมากมาย ซึ่งได้กลายเป็นที่พึ่งอันสำคัญของอาเซียนในการแก้ไข "ช่องว่างภูมิคุ้มกัน"
นอกจากนี้ จีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนยังได้เสริมสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน การผลิต การจัดซื้อและการฉีดวัคซีน ตลอดจนการกำกับดูแล ดำเนินการตาม "ข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขจีน-อาเซียน" จีนให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กองทุนต้านโรคระบาดอาเซียน และร่วมกันสร้างคลังสำรองเวชภัณฑ์ฉุกเฉินของอาเซียน ร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างศูนย์สำรองเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน10+3 และกลไกประสานงานฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจีน-อาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ภายใต้โครงการฝึกอบรมบุคลากรเส้นทางสายไหมเพื่อสุขภาพจีน-อาเซียน(ปี2020-2022) จีนจะฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บริหารด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่เทคนิคเฉพาะทางจำนวน 1,000 คนแก่อาเซียน เพื่อยกระดับการบริการสาธารณสุขในภูมิภาค
สื่อมวลชนของประเทศอาเซียนวิเคราะห์ว่า จีนส่งเสริมความร่วมมือที่มีชัยชนะร่วมกัน ส่งเสริมค่านิยมร่วมกันของเอเชีย ยึดมั่นแนวทางเอเชียที่ให้การเคารพซึ่งกันและกัน บรรลุฉันทามติผ่านการปรึกษาหารือ และคำนึงถึงความสะดวกสบายของทุกฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินงานของอาเซียน เป็นผลดีต่อการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนและการก่อรูปขึ้นของประชาคมอาเซียน-จีนที่มีอนาคตร่วมกัน
ถ้าเปรียบกับอายุคน วัย 30 ปีเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัวที่มีอนาคตสดใสกว้างไกล ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนก็กำลังยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นใหม่ทางประวัติศาสตร์เช่นกัน ต้องมุ่งไปข้างหน้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในระดับที่สูงยิ่งขึ้น การพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียนไม่เพียงแต่จะนำสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนและเปิดกว้างมาสู่ภูมิภาคเท่านั้น หากยังจะเป็นประโยชน์ต่อโลกทั้งใบอีกด้วย
YIM/LU