จีนเร่งขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19

2021-08-07 12:57:20 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

จีนเร่งขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19_fororder_20210807rlmy

วันที่ 5 สิงหาคม นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์เป็นลายลักษณ์อักษรไปยังที่ประชุมฟอรัมระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งแรก โดยเน้นว่า จีนยึดมั่นแนวคิดประชาคมสาธารณสุขของมวลมนุษยชาติมาโดยตลอด เสนอวัคซีนแก่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา และดำเนินความร่วมมือด้านการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแข็งขัน จีนยินดีร่วมกับประชาคมโลกขับเคลื่อนกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19  และสนับสนุนการสร้างประชาคมมนุษย์ที่มีอนาคตร่วมกันต่อไป

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อรรถาธิบายถึงข้อคิดเห็นของจีนอีกครั้งในสุนทรพจน์ว่า จีนต้องการให้เกิดความสามัคคีและความร่วมมือในการต้านการระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งเน้นถึงจุดยืนที่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของจีนอีกครั้งว่า จะช่วยเหลือบรรดาประเทศกำลังพัฒนาแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 นอกจากนี้ยังแถลงว่า จะขับเคลื่อนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างเที่ยงธรรม และลดความเหลื่อมล้ำเรื่องวัคซีน ทั้งนี้ได้ชี้ชัดแนวทางการเอาชนะการระบาดของโควิด-19 โดยเร็วในขอบเขตทั่วโลก และสร้างคุณูปการแก่ทั่วโลกด้วยพลังของจีน

จีนเร่งขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19_fororder_20210807rlmy2

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศในการประชุมสุดยอดด้านสุขภาพโลกว่า จีนจะใช้มาตรการ 5 ข้อ เพื่อสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่อต้านการระบาดของโควิด-19 และมาตรการหนึ่งในนั้น คือ ริเริ่มให้จัดตั้งฟอรัมระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้อริเริ่มของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ดังกล่าวเกิดจากแนวความคิดการสร้างประชาคมมนุษย์ที่มีอนาคตร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในขอบเขตทั่วโลกอย่างเที่ยงธรรมและสมเหตุสมผล โดยผ่านการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจและขจัดความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลในการจัดสรรวัคซีน ด้วยสาเหตุเหล่านี้  ข้อริเริ่มของประธานาธิบดี สี จิ้นผิงดังกล่าวจึงได้รับการตอบรับด้วยดีจากประชาคมโลก

การประชุมฟอรัมระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งแรกบรรลุความเห็นพ้องต้องกันในหลายประเด็น เช่น ยกระดับทักษะการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศกำลังพัฒนา ยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกวัคซีนและวัตถุดิบผลิตวัคซีน รวมทั้งเสริมการแลกเปลี่ยนและประสานนโยบายกำกับดูแลวัคซีน ทั้งนี้มีความหมายสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศในการต้านการระบาดของโควิด-19 และทำให้ชาวโลกมีกำลังใจมากขึ้นในการพัฒนากลไกพหุภาคีของโลก

ขณะนี้ หลายประเทศเกิดการระบาดระลอกใหม่ ประชากรผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกมีมากกว่า 200 ล้านคน การฉีดวัคซีนเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 ดังนั้นการเอาชนะการระบาดของโควิด-19 ต้องเกิดจากการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในขอบเขตทั่วโลก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลก แต่เนื่องจากประเทศและภูมิภาคด้อยพัฒนามีพลังทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังรวมที่จำกัด อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศและภูมิภาคเหล่านี้จึงค่อนข้างต่ำ ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่า 30% ขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนา เช่น สหรัฐฯ และประเทศในยุโรป การแก้ไขสภาพที่ไม่สมดุลเช่นนี้และการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงวัคซีนอย่างไม่สมดุลต้องพึ่งพาความร่วมมือระหว่างประเทศ

การระบาดของโควิด-19 ไม่มีพรมแดน เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามร่วมกันไม่มีประเทศใดสามารถรอดพ้นได้โดยลำพัง การกระทำที่ไม่ถูกต้องต่าง ๆ เช่น การโยนความผิดให้ผู้อื่น ใส่ร้ายผู้อื่น รวมทั้งทำให้การระบาดของโควิด-19 กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและตีตราเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแต่จะทำให้สังคมมนุษย์เผชิญกับภัยอันตรายที่ร้ายแรงขึ้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ รัฐบาล วิสาหกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศจึงต้องกระชับความร่วมมือ ละทิ้งแนวคิดชาตินิยมด้านวัคซีนและต้องแก้ไขปัญหาทางทักษะการผลิตและจัดสรรวัคซีนอย่างประสานกันผ่านช่องทางและวิธีการต่าง ๆ เช่น สนับสนุน การส่งออก  การบริจาควัคซีน และการถ่ายโอนเทคโนโลยี องค์กรการเงินพหุภาคีต้องให้การสนับสนุนด้านการเงิน ต้องใช้มาตรการกำกับดูแลการนำเข้าวัคซีนตามหลักวิทยาศาสตร์และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศสำคัญในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องแบกรับความรับผิดชอบ โดยเสนอวัคซีนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการเร่งด่วนมากขึ้น

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวเน้นในโอกาสทางการทูตหลายครั้งว่า จีนจัดให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะระดับโลก เพื่อให้บรรดาประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงและมีกำลังซื้อวัคซีนได้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แถลงมาตรการช่วยเหลือประการใหม่ในสุนทรพจน์ครั้งนี้ว่า ปีนี้จีนเตรียมจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,000 ล้านโดสแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่โครงการโคแวกซ์ ตลอดจนจะทุ่มเทกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวัคซีน ทั้งนี้จีนจะทำให้คำมั่นสัญญาของตนกลายเป็นจริงขึ้นด้วยปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม

(tim/cai)

เนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)

蔡建新