9 กันยายน พ.ศ. 2564 - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน จัดงานประชุมจีน-อาเซียนว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมความร่วมมือ ครั้งที่ 9 (The 9th Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation) ขึ้น ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ผู้บริหารเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของประเทศอาเซียนในสาธารณรัฐประชาชนจีน นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากประเทศอาเซียนร่วมปาฐกถาทางออนไลน์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษทางออนไลน์
ในพิธีเปิด นายหลี่ ผิง ประธานสำนักข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายวัน (Science and Technology Daily) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ตำแหน่งเทียบเท่าผู้ช่วยรัฐมนตรี นายหร่วน เซียงผิง ผู้ตรวจการระดับ 1 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน และนายเฟย จือหรง รองผู้บริหารเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในงาน โดยมี ผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกล่าวปาฐกถาทางออนไลน์ อาทิ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรัฐมนตรี / ผู้แทนรัฐมนตรีจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
พิธีมอบรางวัล “Guangxi Golden Silkball Friendship Award 2020” แก่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยนายเฟย จือหรง รองผู้บริหารเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
พิธีมอบเครื่องกำหนดพิกัด รับสัญญาณและข้อความจากดาวเทียม Beidou No.3 ให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ในงาน มีพิธีมอบรางวัล “Guangxi Golden Silkball Friendship Award 2020” ให้แก่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และพิธีมอบเครื่องอุปกรณ์ติดตาม กำหนดพิกัด และรับส่งข้อความสั้นผ่านสัญญาณดาวเทียม Beidou No.3 ให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เป็นผู้รับมอบ
พิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มการค้าเทคโนโลยีจีน-อาเซียน
พิธีเปิดสถานีนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน-อาเซียน
งานการประชุมจีน-อาเซียนว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมความร่วมมือ ครั้งที่ 9 ในปี มีการประกาศความสำเร็จในความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่สำคัญ เช่น
แพลตฟอร์มการค้าเทคโนโลยีจีน-อาเซียน (China-ASEAN Technology Training Platform) ที่จะรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีนและประเทศในอาเซียน จะช่วยทำให้ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีน-อาเซียนมีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของจีน-อาเซียน และบริการทางนวัตกรรม “Information Harbor”
สถานีนวัตกรรมความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน-อาเซียน (Innovation Space for China-ASEAN Science and Technology Talents) ที่จะเป็นแพลตฟอร์มบริการระดับนานาชาติที่ครบวงจรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนผู้มีความสามารถสำหรับอาเซียน โดยให้บริการต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจับคู่ธุรกิจ การฝึกอบรมผู้ประกอบการ และการร่วมลงทุน
หัวข้อของงานประชุมครั้งนี้ คือ “การพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมโอกาส การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อชัยชนะในอนาคต” ซึ่งเน้นเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการประชุม ยังมีงานเสวนานักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ 10+3 ครั้งที่ 3 งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 การประชุมจับคู่เทคโนโลยีขั้นสูงของจีน-อาเซียน และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมทรัพยากรทางปัญญา จุดประกายทางความคิด เสนอวิสัยทัศน์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกัน และสนับสนุนการสร้างชุมชนนวัตกรรมจีน-อาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นายเฉา คุนหวา ผู้อำนวยการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ในฐานะตัวแทนของผู้จัดงานนี้ กล่าวว่า กว่างซี ได้ใช้กลยุทธ์การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในเชิงลึก ยึดมั่นในแนวคิดการทำงานของ “โฟกัสส่วนหน้า ร่วมมือส่วนกลาง แลกเปลี่ยนส่วนหลัง” ได้บรรลุผลลัพธ์ในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และเมื่อมองไปในอนาคต กว่างซีจะมุ่งมั่นในการวางแผนนวัตกรรมแบบเปิดกว้างด้วยวิสัยทัศน์ระดับโลก ส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรอบด้านด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง และส่งเสริมการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนแห่งอนาคตร่วมกัน