‘หวง ต้าฟา’ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนแรก)

2021-10-15 12:13:18 | CMG
Share with:

"เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา" เป็นเกียรติภูมิสูงสุดภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.2021 พิธีมอบ "เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา" จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน เป็นผู้มอบเหรียญเกียรติยศแก่ผู้ได้รับรางวัลด้วยตนเอง

เฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ผู้สร้างคุณูปการอันยอดเยี่ยมแก่พรรคและประชาชนเท่านั้น จึงมีสิทธิ์ได้รับเกียรติเช่นนี้ พิธีมอบ "เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยมีผู้ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้รวม 29 คน รวมถึงหวง ต้าฟา ผู้ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำบนหน้าผา

‘หวง ต้าฟา’ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนแรก)

เขานำชาวบ้านใช้เวลากว่า 30 ปีในการขุด “คลองชีวิต” ที่ประกอบด้วยคลองหลักยาว 7,200 เมตร และคลองรองยาว 2,200 เมตรบนหน้าผา เขาอุทิศตนเพื่อประชาชนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเททำงานอย่างหนักและขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรม ได้สร้างคุณูปการโดดเด่นในการปรับปรุงเงื่อนไขการใช้น้ำและบรรลุการหลุดพ้นความยากจนและสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในพื้นที่ภูเขา

หวง ต้าฟา หนึ่งในผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านฉ่าวหวังป้าเดิม ตำบลชนเผ่าเกอเหล่าผิงเจิ้ง เขตโปโจว เมืองจุนอี้  มณฑลกุ้ยโจว เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “หยีว์กงร่วมสมัย" (หยีว์กง-ผู้เฒ่าย้ายภูเขา อุปมาคนที่ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรและไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบาก)

จากเด็กกำพร้าสู่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้าน

หวง ต้าฟาเกิดในสังคมเก่าและกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุยังน้อย เขาเคยนอนในกองหญ้าและคอกวัว เคยเลี้ยงวัวให้เจ้าของที่ดินเพื่อยังชีพ และเติบโตขึ้นโดยพึ่งพาความช่วยเหลือจากญาติห่าง ๆ และเพื่อนบ้าน

"ผมโตมากับการกินข้าวร้อยบ้าน และสวมเสื้อร้อยครัวเรือน หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาที่นี่ ได้แบ่งที่ดินให้ผม ช่วยให้ผมไม่อดอยากและหนาวเหน็บอีกต่อไป" หวงต้าฟากล่าว ความเอาใจใส่จากพรรคฯและความช่วยเหลือของญาติห่าง ๆ และเพื่อนบ้าน ทำให้หวง ต้าฟารู้สึกอบอุ่น เขาสาบานว่าวันข้างหน้าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อหมู่บ้านฉ่าวหวังป้าให้ได้  เพื่อตอบแทนบุญคุณบรรดาชาวบ้าน

หวง ต้าฟาเป็นคนเรียบง่าย อดทน เสียสละ และกล้าคิดกล้าทำ เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมบริหารหมู่บ้านฉ่าวหวังป้าเมื่ออายุเพียง 23 ปี เขาได้รับเกียรติให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ.1959 ในหลายสิบปีต่อจากนั้น เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและเลขาธิการพรรคฯประจำหมู่บ้านตามลำดับจนเกษียณอายุเมื่อปี 2004 

‘หวง ต้าฟา’ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนแรก)

มุ่งมั่นที่จะจัดหาน้ำให้กับหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำ

ภูเขาในหมู่บ้านฉ่าวหวังป้าทั้งสูงและชัน ซึ่งเป็นภูมิประเทศแบบคาร์สต์ทั่วไป เมื่อน้ำฝนตกลงที่พื้นก็จะไหลไปตามโพรงและรอยแตกในหิน ไม่สามารถคงอยู่ไว้กับที่ได้เลย ชาวบ้านไปแบกน้ำจากแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด ก็ยังต้องใช้เวลาไปกลับถึงสองชั่วโมงเลยทีเดียว

เวลาชาวบ้านที่นี่ใช้น้ำ เขาจะซาวข้าวและล้างผักเป็นครั้งแรก ล้างหน้าและเท้าเป็นครั้งที่สอง และให้อาหารหมูและวัวเป็นครั้งที่สาม เวลาเจ้าหน้าที่จากอำเภอเดินทางมาตรวจงานที่ฉ่าวหวังป้า ในถ้วยน้ำที่ชาวบ้านยื่นให้มักจะออกสีเหลืองขุ่น

ที่ดินที่นี่ผลิตอาหารได้ไม่มาก เนื่องจากขาดน้ำจึงปลูกได้เฉพาะข้าวโพดที่ทนแล้งได้ ผัดเมล็ดข้าวโพดจนสุก เอาแกลบข้าวโพดออก แล้วบดเป็นแป้ง นึ่งสุกแล้วก็จะกลายเป็นอาหารหลักบนโต๊ะอาหารของชาวบ้านซึ่งเรียกกันว่า “ข้าวเปาซา”    อาหารชนิดนี้กลืนยากเพราะรสชาติไม่อร่อย ตลอดทั้งปีสี่ฤดูกาลชาวบ้านที่นี่ไม่เคยได้กินอิ่มท้อง

ห่างจากหมู่บ้านฉ่าวหวังป้าเพียงไม่กี่กิโลเมตรมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่ปัญหาคือมีภูเขาขวางทางเป็นอุปสรรค

หมู่บ้านไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ และไม่มีถนนเข้าออกที่สะดวก หวง ต้าฟาเห็นสภาพเช่นนี้แล้วร้อนใจมาก หลังจากรับหน้าที่เป็นผู้บริหารหมู่บ้าน เขาได้ทิ้ง “วาทะเด็ด” ว่าจะทำสามเรื่องเพื่อชาวบ้าน ได้แก่ ผันน้ำ สร้างถนน และเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า คนในหมู่บ้านนึกว่าเขา "บ้าไปแล้ว"

“ยากจนเพราะขาดน้ำ ต้องหาทางให้มีแหล่งน้ำให้ได้ ต้องให้ทุกคนมีข้าวสวยกิน” หวง ต้าฟาปักใจเช่นนี้

‘หวง ต้าฟา’ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนแรก)

ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ท้อถอยเพื่อก่อสร้างคลองส่งน้ำ

ในช่วงทศวรรษ 1960  ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและการนำของหวง ต้าฟา ชาวฉ่าวหวังป้าได้ดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก แต่ด้วยเหตุผลทางเทคนิคและอื่นๆ  แม้ใช้เวลาไปมากกว่า 10 ปีก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

หลายคนเริ่มท้อถอย แต่หวง ต้าฟาไม่ยอมแพ้  เมื่อ ค.ศ.1989 หวง ต้าฟาซึ่งมีอายุเกิน 50 ปีแล้วได้ไปที่สถานีบริหารทรัพยากรน้ำในบริเวณใกล้เคียง เขาช่วยทำงานไปพลางศึกษาเรียนรู้ไปพลาง ในช่วงเวลากว่า 3 ปี หวง ต้าฟาซึ่งมีการศึกษาระดับประถมศึกษาเท่านั้นเรียนรู้โดยเริ่มจากความรู้พื้นฐาน ด้วยความทุ่มเทอย่างหนัก เขาสามารถกลายเป็นคนมีความรู้มากด้านการชลประทานอย่างเหลือเชื่อ

เดือนธันวาคม ค.ศ.1990 อากาศหนาวเหน็บ เพื่อรวบรวมเงินทุนสร้างคลองส่งน้ำ หวง ต้าฟาเดินทางตามถนนบนภูเขาสองวัน กว่าเขาจะได้เข้าพบผู้บริหารสำนักงานชลประทานของอำเภอจุนอี้ในเวลานั้น เขาเปื้อนโคลนทั้งตัว รองเท้ายี่ห้อเจี่ยฟ่างคู่เก่าชำรุดจนมองเห็นนิ้วเท้าที่ออกสีม่วงเพราะความหนาวเย็น “ฉ่าวหวังป้าแห้งแล้งมาก ไม่มีผลผลิตจากที่ดินเลย ผมจะนำมวลชนสร้างคลองเพื่อผันน้ำเข้ามา” หวง ต้าฟาหยิบรายงานขออนุมัติโครงการจากกระเป๋าสะพายที่ชำรุดทรุดโทรม

ในเวลานั้น งบประมาณด้านการชลประทานของอำเภอจุนอี้มีเพียง 200,000 หยวนต่อปีเท่านั้น ตามการคำนวณเบื้องต้น การส่งน้ำจากแหล่งน้ำไปยังฉ่าวหวังป้าต้องผ่านหน้าผาทั้งขนาดใหญ่และเล็กรวม 9 แห่ง สันเขามากกว่า 10 แนว โดยเฉพาะต้องขุดคลองส่งน้ำบนหน้าผาหินต้าถู่วาน, ชาเอ่ร์เหยียน และฮุยต้งเหยียน ที่มีความสูงจากพื้นดินหลายร้อยเมตร จำต้องใช้เวลาทำงาน 50,000 - 60,000 ชั่วโมง แต่ฉ่าวหวังป้ามีแรงงานเพียง 100-200 คนเท่านั้น งานจำนวนมากขนาดนี้จะทำสำเร็จได้อย่างไร?

แต่หวง ต้าฟากล่าวว่า "หากสร้างไม่สำเร็จในหนึ่งปีก็สองปี สองปีไม่สำเร็จก็สามปี ผมต้องทำสำเร็จให้ได้แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตของผมก็ยอม!"

YIM/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (17-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (17-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (17-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (16-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (16-05-2567)

陆永江