ค่ำวันที่ 27 ตุลาคม นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 จากกรุงปักกิ่งผ่านระบบทางไกล พร้อมประกาศข้อเสนอ 4 ประการเพื่อส่งเสริมให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคารพซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน ทำงานร่วมกัน ทุ่มเทกำลังมากขึ้นในการต่อสู้กับโควิด-19 และการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรือง
นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็น "ฟอรั่มเชิงยุทธศาสตร์ที่นำโดยผู้นำ" มีสมาชิกจากประเทศหลัก ๆ ในเอเชียแปซิฟิก จึงมีความเป็นตัวแทนและบทบาทในวงกว้าง เอเชียตะวันออกจำเป็นต้องผลักดันการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระดับโลกต่อไป
นายหลี่ เค่อเฉียง ชี้ให้เห็นว่า การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกควรยึดแนวทางของตนเอง ให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคมีทิศทางที่ถูกต้อง ส่งเสริมความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมดุล การเคารพซึ่งกันและกันบนอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนเป็นบรรทัดฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นหลักการชี้นำที่สำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จีนจึงเสนอข้อเสนอสี่ประการดังนี้ คือ
ประการแรก ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันต่อสู้โรคระบาด จีนจะเพิ่มการช่วยเหลือด้านวัคซีนและเวชภัณฑ์ป้องกันโรคระบาดอื่น ๆ อย่างเต็มความสามารถตามความต้องการของประเทศที่เกี่ยวข้อง และจะเร่งขับเคลื่อน “ข้อริเริ่มความร่วมมือด้านสาธารณสุขจีน-อาเซียน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุขในภูมิภาค
ประการที่สอง ทุกฝ่ายจำต้องส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน รักษาการค้าที่เสรีและเที่ยงธรรม รับรองการขนส่งระหว่างประเทศที่ปราศจากอุปสรรค ต้องพยายามผลักดันให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้และได้รับการปฏิบัติโดยเร็ว จีนได้สมัครอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ทั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความมุ่งมั่นในการเปิดประเทศต่อไป รวมทั้งจีนจะสนับสนุนความพยายามของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว
ประการที่สาม ทุกฝ่ายควรส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รับมือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามหลักรับผิดชอบร่วมกันบนพื้นฐานของความแตกต่าง ดำเนินการตามข้อตกลงปารีสอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการมุ่งสู่วิถีคาร์บอนต่ำในลักษณะที่สมดุลและเป็นระเบียบ บรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะเดียวกันก็รับประกันการจัดหาพลังงานที่มั่นคงและปลอดภัย
ประการสุดท้าย ทุกฝ่ายควรสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โครงสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เปิดกว้างและครอบคลุม โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญในการรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวของภูมิภาค ทุกฝ่ายควรสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน รวมทั้งความพยายามในการรักษากลไกพหุภาคีและรักษาระบบระหว่างประเทศโดยมีสหประชาชาติเป็นแกนนำ
นายหลี่ เค่อเฉียง ยังกล่าวด้วยว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมสำคัญในความร่วมมือเอเชียตะวันออก จีนสนับสนุนอาเซียนในการจัดการประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมตามแนวทางของอาเซียน ส่งเสริมความสามัคคีในอาเซียน ส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการสันติภาพและความปรองดองในเมียนมา
นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวเน้นด้วยว่า ทะเลจีนใต้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของทุกฝ่าย การรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ รวมทั้งเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในทะเลจีนใต้สอดคล้องกับประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ด้วยการใช้ความพยายามร่วมกันของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน ปัจจุบันสถานการณ์โดยรวมในทะเลจีนใต้จึงมีเสถียรภาพ
(tim/cai)