มหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน หรือ CIIE ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 5 - 10 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยเตรียมจัดแสดงอะไรบ้างในงานการค้าระดับชาติของจีนครั้งนี้ ผู้คนทั้งหลายสามารถค้นหาคำตอบได้บ้างจากหอนิทรรศการเสมือนของไทยทางเว็บไซต์ CIIE ที่ https://country.ciie.org/2021/Thailand/ นิทรรศการของประเทศต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบสำคัญในงาน CIIE โดยจะเปิดสถานที่ให้ประเทศต่าง ๆ จัดแสดงเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศ ผ่านการประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเหนือกว่าด้านอุตสาหกรรมการผลิต การค้า การลงทุน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เป็นตัวแทน เป็นต้น
ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่ไทยเข้าร่วมงาน CIIE กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย ได้แนะนำโครงการ “Think Thailand” ในนิทรรศการของไทยในงาน CIIE โดยระบุว่า คิดเรื่องการผลิตมือชีพ หรือ ความคิดสร้างสรรค์ โปรดคิดถึงประเทศไทย คิดถึงเรื่องเพชรนิลจินดาอันสวยงามและการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ โปรดคิดถึงประเทศไทย คิดเรื่องข้าวและผลิตภัณฑ์ยางพาราดีที่สุดในโลก โปรดคิดถึงประเทศไทย คิดเรื่องอาหารคุณภาพสูง โปรดคิดถึงประเทศไทย
ขณะเปิดชมวีดิทัศน์เรื่อง “ไทยเป็นโรงงานอาหารโลก” ในนิทรรศการเสมือนจริงของไทยจะเรียนรู้ว่า เมืองไทยมีความหลากหลายทางอาหารมาก โดยมีอาหารอินทรีย์ อาหารฮาลาล อาหารแปรรูป และอาหารจานด่วน เป็นต้น รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปอาหารครบวงจร ประเทศไทยสัญญาต่อผู้บริโภคทั่วโลกว่า ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว จัดซื้อ หีบห่อ ขนส่ง ไปจนถึงการจัดส่งถึงมือผู้บริโภค ตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยต่างมีมาตรการความปลอดภัยเข้มงวด ไทยไม่เพียงแต่ตอบสนองอาหารที่มีความหลากหลายและรสชาติอร่อยเพียงพอแก่ทั่วโลกเท่านั้น หากยังทำให้การรับประทานอาหารกลายเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวก รวดเร็ว และสุขสบาย ขณะเดียวกันไทยยังประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Thai Select ที่บ่งบอกถึงอาหารไทยต้นตำรับขนานแท้ในงาน CIIE ด้วย
นอกจากนี้นิทรรศการของไทยยังประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นแห่งนายกรัฐมนตรีไทย (Prime Minister’s Export Award 2021) ตราสัญลักษณ์ T Mark (Thailand Trust Mark) สัญลักษณ์แห่งความยอดเยี่ยมและคุณภาพที่ได้รับการยอมรับ ตราสัญลักษณ์ DEmark (Design Excellence Award) รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี และตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิ เป็นต้น ตราสัญลักษณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์รวมถึงการบริการของไทย เพื่อประกันให้บรรดาผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพจากประเทศไทย
ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว นิทรรศการของไทยเปิดฉายวีดิทัศน์เรื่อง “ไทยมุ่งมั่นพัฒนาเป็นศูนย์ดูแลสุขภาพโลก” โดยแนะนำวิธีการบำรุงสุขภาพดั้งเดิมแบบไทย ห้องออกกำลังกายทันสมัยที่เปิดสอนมวยไทย สปา และการทำสมาธิ เป็นต้น ประกอบกับผู้ฝึกสอนมืออาชีพที่ให้บริการอย่างละเอียดประณีตและอบอุ่น ซึ่งความเหนือกว่าเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพจากทั่วโลก นอกจากนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังใช้นโยบายต่าง ๆ พัฒนาเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมการผลิตดิจิทัลของไทย ซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์และการถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น ต่างได้รับการต้อนรับจากทางสากล
งาน CIIE ครั้งที่ 4 ในปีนี้แบ่งพื้นที่จัดนิทรรศการออกเป็น 6 เขต ได้แก่ เขตจัดแสดงอาหารและผลิตผลทางการเกษตร เขตจัดแสดงรถยนต์ เขตจัดแสดงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ เขตจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค เขตจัดแสดงเวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนเขตการค้าภาคบริการ โดยมีสินค้าเกือบ 200 ชนิดจากหลายสิบธุรกิจของไทยเข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้ สินค้าไทยส่วนใหญ่ร่วมจัดนิทรรศการในเขตจัดแสดงอาหารและผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงเขตจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคเป็นหลัก เมื่อเดินชมนิทรรศการในสองเขตนี้จะพบบูธเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ฟู้ด ออนวาร์ด จำกัด บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด บริษัท ไทย ดีญ่า จำกัด และสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย (AIGS) เป็นต้น ในเขตจัดแสดงเวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ มีบูธของบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดสัทรี จำกัด และบริษัท เฉลิมไทย อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งเป็น 2 บริษัทไทย ส่วนธนาคารกสิกรไทยเป็นธุรกิจไทยเพียงรายเดียวที่เข้าร่วมนิทรรศการในเขตจัดแสดงการค้าภาคบริการ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหวาที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจไทยบางรายไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมงาน CIIE ปีนี้ที่นครเซี่ยงไฮ้ได้ก็ตาม แต่จำนวนธุรกิจไทยที่จะเข้าร่วมงาน CIIE ปีนี้ยังเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วถึง 17 ราย เฉพาะธุรกิจที่ร่วมจัดแสดงในหอนิทรรศการประเทศไทยก็มีถึง 43 ราย
การค้าระหว่างจีน-ไทยดำเนินมาเป็นเวลาช้านานและเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าอันดับหนึ่งของไทย และเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารจากไทยมากที่สุด ตลอดช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาตลาดของเล่นเด็กในจีนเจริญรุ่งเรืองขึ้นสร้างโอกาสแก่บรรดาธุรกิจส่งออกของเล่นเด็กของไทย สถิติจากกระทรวงพาณิชย์ไทย ระบุว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ จีนนำเข้าของเล่นเด็กจากเมืองไทยคิดเป็นมูลค่า 13.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าระยะเดียวกันของปี 2020 ร้อยละ 1.6
งาน CIIE ไม่เพียงแต่ช่วยให้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์คุณภาพดีสู่จีนมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีส่วนช่วยให้ธุรกิจไทยเรียนรู้ตลาดจีนมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะเดียวกันงาน CIIE ยังสร้างโอกาสแก่ธุรกิจไทยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้านานาชาติ ตลอดจนศึกษาเรียนรู้ตลาดโลกให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หวังว่าบรรดาธุรกิจไทยที่เข้าร่วมงาน CIIE จะได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมากสมความปรารถนา
(Tim/Zhou)