การประชุมสุดยอดรำลึกการครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียนจะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นการประชุมซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญ โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเข้าร่วมประชุม พร้อมกับผู้นำประเทศอาเซียน โดยร่วมทบทวนผลงานสำคัญและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์สองฝ่ายในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนวางแผนและชี้ทางให้แก่อนาคตการพัฒนา
จีนมีคำกล่าวโบราณประโยคหนึ่งว่า เมื่ออายุ 30 ตั้งหลักได้มั่นคง หลังจากผ่านลมฝนมา 30 ปี จีน-อาเซียนพัฒนาจากความสัมพันธ์คู่เจรจา ขึ้นเป็นความสัมพันธ์หุ้นส่วน แล้วยกระดับขึ้นเป็นความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ทีละก้าว สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อถือเชิงยุทธศาสตร์จีน-อาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนอดไม่ได้ที่จะถามว่าทำไมความสัมพันธ์จีน-อาเซียนใกล้ชิดกันมาตลอด 30 ปีมานี้จนกลายเป็นแบบฉบับแห่งผลสำเร็จด้านความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก? ในสายตาของผู้เขียนต้องวิเคราะห์จากประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบันสองปัจจัย
จีน-ประเทศอาเซียนติดกันทั้งทางบกและทางทะเล มีขนบธรรมเนียมคล้ายคลึง มีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกัน เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน สองฝ่ายดำเนินการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและบุคลากร ก่อให้เกิดเส้นทางสายไหม เส้นทางสายชา เส้นทางสายเครื่องกระเบื้องเคลือบ และเส้นทางสายเครื่องเทศที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจสังคมสองฝ่าย ส่วนชาวจีนโพ้นทะเลและชาวต่างชาติเชื้อสายจีนที่เดินทางไปยังเอเชียอาคเนย์แสดงบทบาทสำคัญต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมประชาชาติจีน ซึ่งลงลึกทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และเทคนิคการผลิต ขณะเดียวกันวัฒนธรรมและผลิตผลในประเทศอาเซียนยังส่งผลกระทบสำคัญต่อวัฒนธรรมจีนด้วย โดยประวัติศาสตร์อันยาวนานและความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ประเทศอาเซียน หยั่งรากลึกในแผ่นดินของทั้งสองฝ่าย การแข่งขันทางการเมืองส่วนภูมิภาคใด ๆ ก็ยากที่จะสะเทือนได้
ค.ศ. 1991 ที่จีน-อาเซียนสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาอยู่ในช่วงสงครามเย็นสิ้นสุดลง เพื่อสนองฝีก้าวของโลกาภิวัตน์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค สองฝ่ายจึงเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจา ตลอด 30 ปีมานี้จากการรับมือวิกฤตการเงินในเอเชียจนถึงวิกฤตการเงินโลก จากการต้านสึนามิในมหาสมุทรอินเดียถึงการต้านภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเวิ่นชวนของจีน จากการเอาชนะโรคซาร์สสู่การร่วมกันต่อสู้โควิด-19 จีน-อาเซียนยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตลอด ร่วมทุกข์ร่วมสุข ฟันฝ่าอุปสรรคพร้อมกัน โดยวิกฤตทุกครั้งล้วนทำให้ความสัมพันธ์สองฝ่ายใกล้ชิดและมีความเหนียวแน่นกันยิ่งขึ้น
สิ่งที่น่าหยิบยกมากล่าว คือ อาเซียนเป็นทิศทางอันดับแรกในการทูตโดยรอบของจีน เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ตั้งแต่จีนเสนอร่วมสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” เป็นต้นมา ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ก่อรูปแบบการพัฒนาทั้งทางบกและทางทะเลที่เกื้อกูลกันในภูมิภาคอาเซียนซึ่งอัดฉีดพลังใหม่แก่ความร่วมมือจีน-อาเซียน โครงการที่เป็นสัญลักษณ์ในการก่อสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” รวมไปถึงรถไฟจีน-ไทยกำลังเดินหน้าอยู่ ซึ่งไม่เพียงแต่ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของประเทศอาเซียน หากยังเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการมีงานทำ ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มรายได้จากภาษี ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาการค้าการลงทุนอย่างแท้จริง
สิ่งที่เป็นความจริงอีกประการ คือ ประเทศอาเซียนยึดมั่นยุทธศาสตร์ความสมดุลระหว่างประเทศใหญ่ การเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของอาเซียน แม้จีน-อาเซียนมีความแตกต่างกันด้านระบบการเมือง ระดับเศรษฐกิจ และธรรมเนียมประเพณี แต่ในผลประโยชน์ที่ต่างให้ความสำคัญนั้นสองฝ่ายยึดหลักการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ได้กระทบความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กัน การปฏิบัติมาตลอด 30 ปีพิสูจน์ว่า ความร่วมมือจีน-อาเซียนนำการแข่งขันทางการเมืองในส่วนภูมิภาคดั้งเดิมไปแล้ว ทั้งยังได้ฝังรากลึกบนแผ่นดินที่มีภูเขาและทะเลติดกันของทั้งสองฝ่าย
เขียนโดย ชุย อี๋เหมิง ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)
(Tim/Cui)