บทวิเคราะห์ : จีนชี้ลิทัวเนียตั้งสำนักงานตัวแทนไต้หวันไม่ต่างจากเขี่ยลูกเกาลัดออกจากกองไฟสุดท้ายจะโดนไฟลวก

2021-11-26 15:47:42 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

บทวิเคราะห์ : จีนชี้ลิทัวเนียตั้งสำนักงานตัวแทนไต้หวันไม่ต่างจากเขี่ยลูกเกาลัดออกจากกองไฟสุดท้ายจะโดนไฟลวก

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2021 ลิทัวเนียเพิกเฉยต่อการที่จีนประท้วงและเจรจาหลายต่อหลายครั้งในกรณีที่ลิทัวเนียอนุญาตให้ไต้หวันตั้ง “สำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำลิทัวเนีย” ซึ่งการกระทำดังกล่าวจีนถือว่าเป็นการละทิ้งคำมั่นสัญญาทางการเมืองของทั้งสองประเทศในแถลงการณ์ว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ทำลายอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของจีน แทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างรุนแรง โดยจีนแสดงความไม่พอใจและดำเนินการประท้วงอย่างจริงจัง ในท้ายที่สุดได้ตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับลิทัวเนียลงมาอยู่ที่ระดับอุปทูตรักษาการ

นโยบายจีนเดียวระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายเดียวในนามของทั่วประเทศจีน รัฐบาลจีนมีเจตนาในการรักษาความสัมพันธ์จีน-ลิทัวเนีย พยายามที่จะชี้แจงให้ลิทัวเนียเข้าใจและไม่ทำเรื่องที่ขัดต่อนโยบายดังกล่าวมาหลายครั้ง แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือลิทัวเนียเพิกเฉยต่อจุดยืนจริงจังของรัฐบาลจีน แสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรหลายต่อหลายครั้ง

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ รัฐบาลลิทัวเนียลดระดับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจีน-ยุโรป 17+1 โดยส่งเพียงรัฐมนตรีคมนาคมเข้าร่วมการประชุมและถอนตัวออกจากระบบความร่วมมือ 17+1 หลังจากนั้นอีก 3 เดือน และในเดือนมีนาคม รัฐบาลลิทัวเนียประกาศจัดตั้งสำนักงานตัวแทนการค้าที่ไต้หวันในปลายปีนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม สภาลิทัวเนียผ่านมติสิทธิมนุษยชนว่าด้วยซินเจียง เรียกร้องให้ฟื้นฟู “อิสระ” ของฮ่องกง และ “เสรีภาพทางศาสนา” ของทิเบต ล่าสุดลิทัวเนียอนุมัติให้ไต้หวันจัดตั้งสำนักงานตัวแทนที่ลิทัวเนีย ในสายตาของรัฐบาลจีนถือเป็นการสร้างแบบอย่างที่ละเมิดนโยบายจีนเดียว และแทรกแซงกิจการภายในของรัฐบาลจีนอย่างชัดเจน โดยรัฐบาลจีนจำเป็นต้องปกป้องอธิปไตยของตนเองและบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงใช้มาตรการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศลงเป็นระดับอุปทูตรักษาการ

กล่าวได้ว่าก่อนที่ลิทัวเนียจะดำเนินการใดใดก็ย่อมต้องคำนึงถึงมาตรการตอบโต้อย่างเป็นระบบที่จีนอาจใช้ รวมถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาแต่สาเหตุที่ลิทัวเนียดำเนินวิถีทางดังกล่าวอาจเป็นเพราะในด้านการเมือง ลิทัวเนียเป็นสาธารณรัฐแห่งแรกที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต จำเป็นต้องอาศัยสหรัฐฯ ด้านความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญของลิทัวเนียในเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังด้านความปลอดภัยให้กับลิทัวเนีย แลกกับการที่ลิทัวเนียประสานเข้ากับยุทธศาสตร์ระเบียบโลกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่แล้วพยายามที่จะบีบบังคับจีน ส่วนนโยบายของลิทัวเนียต่อจีนในหลายปีมานี้ก็ค่อย ๆ เบี่ยงเบน เป็นไปตามนโยบายของสหรัฐฯ เพื่อต้องการแสดงความเป็นพันธมิตรที่ซื่อสัตย์ต่อสหรัฐฯ

ในด้านเศรษฐกิจ มีการวิเคราะห์ว่านักการเมืองลิทัวเนียมองว่ายอดการค้าลิทัวเนีย-จีนไม่สูง ถึงแม้การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแต่ก็จะไม่ได้รับความเสียหายมาก แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือตามสถิติของศุลกากรจีน ปี 2020 ยอดการค้าสองประเทศมีถึง 2,295 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 2,800,000 คนนั้นถือเป็นตัวเลขมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าลิทัวเนียยังต้องอาศัยตลาดจีน โดยจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หากจีนไม่ดำเนินการไปมาหาสู่กันด้านค้ากับลิทัวเนีย ผลเสียอย่างร้ายแรงก็จะเกิดขึ้นกับลิทัวเนีย

หลังจากลิทัวเนียอนุมัติจัดตั้ง “สำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำลิทัวเนีย” เพียงวันเดียว รัฐมนตรีเศรษฐกิจลิทัวเนียก็ยืนยันที่จะลงนามข้อตกลงว่าด้วยสินเชื่อเพื่อการส่งออกวงเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกา มีการวิเคราะห์ว่าลิทัวเนียมีความคาดหวังต่อการสนับสนุนด้านการค้าจากสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน

จีนมองว่าปัญหาของไต้หวันเหมือนกับกำลัง “เล่นกับไฟ” รัฐบาลสหรัฐฯ ที่พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง การกระทำของลิทัวเนียในครั้งนี้จีนมองว่าไม่ต่างกับเขี่ยลูกเกาลัดออกจากกองไฟเพื่อเอาใจประเทศใหญ่บางประเทศ ถึงเวลานั้น หากสหรัฐฯ “จะไม่ยอมรับ หรือรับผิดชอบ” ในที่สุด “กองไฟ” ของลิทัวเนียก็จะเผาตัวเองเสมือนการหาเรื่องใส่ตัว

เขียนโดย ชุย อี๋เหมิง ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)

(Bo/Cui)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-04-2567)

  • เกาะกระแสจีน (27-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-04-2567)

崔沂蒙