วันที่ 13 ธันวาคม ปี 2021 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาดาวเทียมแห่งชาติสังกัดสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีนได้ประกาศข้อมูลโดยระบุว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 เป็นต้นมา ดาวเทียมเฟิงหยุน FY-2H ซึ่งได้รับการขนานนามว่า "ดาวเทียมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" นั้น แต่ละวันจะเก็บข้อมูลภาพเมฆมุมมองเต็ม 28 ภาพและภาพเมฆซีกโลกเหนือ 20 ภาพ จนถึงปัจจุบันได้รับภาพเมฆรวม 55,000 ภาพ
หลังจากการปรับตำแหน่งคงที่ในอวกาศไปทางทิศตะวันตกแล้ว ดาวเทียม FY-2H ได้อุดจุดบอดการสังเกตการณ์ของดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกในมหาสมุทรอินเดีย เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก แอฟริกาและพื้นที่อื่นๆ ภาพเมฆกว่า 50,000 ภาพได้รับการประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เช่น พายุไซโคลนในทะเลอาหรับและน้ำท่วมในประเทศศรีลังกา เป็นต้น
"ข้อมูลจากดาวเทียม FY-2H เช่น ภาพถ่าย อุณหภูมิในจุดสูงสุดของเมฆ การจำแนกประเภทเมฆ และอื่นๆ ซึ่งได้รับจากเครือข่ายบริการข้อมูลการสำรวจระยะไกลของดาวเทียมจีนนี้ ได้ให้ความช่วยเหลืองานบริการพยากรณ์อากาศรายวันของเรา" เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาประเทศนามิเบียกล่าวเพิ่มเติมในที่ประชุมผู้ใช้บริการนานาชาติของดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเฟิงหยุนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ว่า ระบบรับและประมวลผลข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา FY-3 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาของจีนช่วยติดตั้งให้ใช้งานในสำนักงานของเราแล้วนี้ สามารถบรรลุการรับข้อมูลดาวเทียมแบบเรียลไทม์ ทำให้การสำรวจทะเลสาบ พืชพรรณและอื่นๆด้วยดาวเทียมนี้ ได้ยกระดับขีดความสามารถในการบริการข้อมูลสำรวจสิ่งแวดล้อมของสำนักงานอุตุนิยมวิทยานามิเบีย นับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับนามิเบียซึ่งมีภัยแล้งตลอดทั้งปี "
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่โลกร้อนขึ้นและมีสภาพอากาศเลวร้ายบ่อยครั้งขึ้น ไม่เพียงแต่ดาวเทียม FY-2H เท่านั้น แต่รวมถึงดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาตระกูลเฟิงหยุนทั้งหมดต่างก็กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริการประเทศและภูมิภาครายทาง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ตลอดจนทั่วโลก ในด้านการพยากรณ์อากาศ การรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FY-3E ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่ทำการสำรวจข้อมูลในช่วงเวลาตี 5 ถึง 7.00 น. และใช้ประโยชน์ทางพลเรือนดวงแรกของโลก และ FY-4 B ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาในวงโคจรค้างฟ้า (GEO) รุ่นใหม่ของจีน ซึ่งเป็นดาวเทียมสองดวงที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยความสำเร็จเมื่อไม่นานมานี้เอง และยังคงอยู่ในขั้นตอนทดสอบนั้น ปัจจุบันได้รับ “ออเดอร์” แล้วล่วงหน้าจากลูกค้านานาชาติที่คาดหวังว่าจะได้ใช้บริการดาวเทียมดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
จนถึงปัจจุบัน มี 121 ประเทศและภูมิภาคที่ได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเฟิงหยุนของจีน ซึ่งรวมถึง 85 ประเทศและภูมิภาครายทาง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" มีมากกว่า 1,400 คนจาก 92 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลกได้รับการฝึกอบรมด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องแล้ว
หวัง จิ้นซง ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาดาวเทียมแห่งชาติจีนกล่าวว่า จีนกำลังผลักดันดาวเทียม FY-4A, FY-3D และ FY-2H ให้เข้าร่วมอยู่ในรายชื่อ "ดาวเทียมอยู่เวร" ตามกลไกกฎบัตรระหว่างประเทศด้านภัยพิบัติร้ายแรงและอวกาศ
ในอดีต คำถามที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ คือ มีการคิดค่าใช้จ่ายหรือไม่ เสียน ตี๋ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการประยุกต์ใช้ข้อมูลการสำรวจระยะไกลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีนตอบคำถามนี้ว่า "อันที่จริง ตั้งแต่การบริการข้อมูล แพลตฟอร์มรับข้อมูล จนถึงผลิตภัณฑ์ประยุกต์ใช้ข้อมูลการสำรวจระยะไกล และการฝึกอบรมทักษะนั้น ล้วนเป็นการให้บริการฟรี ผู้ใช้บริการต่างประเทศกับผู้ใช้บริการชาวจีนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในด้านการได้มาซึ่งข้อมูล"
อนึ่ง ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) จีนได้วางแผนที่จะปล่อยดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาอีก 5 ดวง และจะบรรลุการอัพเกรดระบบสังเกตการณ์ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเฟิงหยุนรุ่นที่ 3 ซึ่งจะนำไปสู่การให้บริการอย่างแม่นยำและละเอียดยิ่งขึ้นแก่ประเทศและภูมิภาครายทาง"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" เพื่อให้ความช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ
YIM/LU