ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ RCEP เป็นโอกาสสำคัญทางการค้าของไทยยุคหลังโควิด-19

2021-12-30 08:24:13 | CMG
Share with:

ต้นปีเสือ วันที่ 1 มกราคม 2022  “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP  เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ  ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง โอกาสนี้ ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)ได้สัมภาษณ์รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน

โดยดร.อักษรศรี พานิชสาส์นกล่าวเน้นว่า ความตกลง RCEP เป็นหนึ่งในความตกลงทางการค้าที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย และหากรู้จักใช้ประโยชน์  จะนำการเปลี่ยนแปลงทางด้านการค้าและเศรษฐกิจสู่ประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้  RCEP เป็นโอกาสสำคัญทางการค้าของไทยยุคหลังโควิด-19

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น : โดยส่วนตัว  ดิฉันสนับสนุนความตกลง RCEP มาตั้งแต่แรกและต้องการผลักดันให้เจรจาสำเร็จมาโดยตลอด  เพราะ RCEP เป็นความตกลงทางการค้าที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย หากไล่เรียงดูรายประเทศ จะพบว่า บรรดาภาคีความตกลง RCEP ล้วนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งนอกจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และในอนาคต คาดว่า อินเดียก็อาจจะเข้าร่วม RCEP อย่างเป็นทางการด้วยเพราะอินเดียร่วมเจรจามาด้วยกันโดยตลอด

ล่าสุด ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มี 10 ประเทศจาก 15 ประเทศสมาชิก RCEP ได้ให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการแล้ว อันได้แก่ 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ ไทย, บรูไน, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์ , เวียดนาม และอีก 4 ประเทศที่มิใช่สมาชิกอาเซียน คือ จีน , ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย ส่งผลให้ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2022 นี้ และทั้ง 10 ประเทศนี้ รวมกันจะเป็นตลาดขนาดใหญ่และหลายประเทศมีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ตลาดจีน

ตั้งแต่ต้นปี 2022 จึงเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP  ซึ่งเชื่อว่า หากทำได้อย่างจริงจัง จะนำการเปลี่ยนแปลงทางด้านการค้าและเศรษฐกิจมาสู่ประเทศไทย

โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ได้สร้างปัญหาให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะในทางด้านการค้าขายและการติดต่อขนส่งระหว่างกัน มีหลายประเทศได้ใช้นโยบายปิดประเทศ   มีการพูดถึงขั้นที่ว่า วิกฤติโควิด-19 จะนำไปสู่จุดจบของโลกาภิวัฒน์ (End of Globalization) ประเทศต่างๆ จะหันไปเน้นค้าขายกันเองในภูมิภาค หรือที่เรียกว่า กระแสภูมิภาคนิยม (Regionalism)

ดังนั้น RCEP ที่มีสมาชิกอยู่ในภูมิภาคเอเชียจึงเป็นพื้นที่ที่เราควรให้ความสำคัญ ความตกลง RCEP ยังเป็นข้อตกลงที่ไทยลงนามเพื่อทำการค้าเสรีกับประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของเราด้วย และความตกลงนี้ยังครอบคลุมถึงการค้าบริการ ตลอดจนการค้าออนไลน์ หรือ e-commerce ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ในยุคนี้ด้วย  

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ไทยจะไม่ให้ความสำคัญกับความตกลงนี้ และรัฐบาลไทยควรจะผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ เพื่อใช้เป็นโอกาสในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย ในยุคหลังโควิด-19 และการมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์มด้วย

ที่ผ่านมา โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพารายได้จากการส่งออก ดังนั้น หากเราสามารถเร่งการส่งออกและการค้าการขายกับคู่ค้าภายใต้ความตกลง RCEP นี้  ก็จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ และสร้างานสร้างรายได้ให้แรงงานไทยและอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาคการส่งออกอยู่แล้ว จึงเชื่อว่า หากใช้ประโยชน์ได้จริง ความตกลง RCEP จะเป็นกรอบการค้าสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยยุคหลังโควิด-19 จะฟื้นฟูกระเตื้องขึ้นได้บ้าง

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (29-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (29-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

陆永江