วันที่ 21 มกราคม นายเกิ่ง ส่วง รองผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ เรียกร้องให้สหประชาชาติส่งเสริมความเป็นพหุภาคี มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นายเกิ่ง ส่วง กล่าวเช่นนี้หลังรับฟังการบรรยายสรุปของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับลำดับความสำคัญภารกิจของเขาในปี 2022
นายเกิ่ง ส่วง เน้นย้ำถึงความจำเป็นของความเป็นพหุภาคีที่แท้จริงว่า การกีดกันและความเป็นเอกภาคีจะส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของผู้อื่นและของตนเองในที่สุด
เขากล่าวว่า การเผยแพร่คำพูดแสดงความเกลียดชังและอคติ ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการเป็นปรปักษ์กันทางอุดมการณ์ และการยับยั้งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศอื่นนั้น มีแต่จะส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าและการแบ่งแยกในโลกเท่านั้น
นายเกิ่ง ส่วง กล่าวว่า การลำดับความสำคัญภารกิจของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เสนอแนวทางและความคิดริเริ่มในการเสริมสร้างความร่วมมือและปรับปรุงธรรมาภิบาลระดับโลก เพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต จีนจะเข้าร่วมการอภิปรายอย่างแข็งขันในการประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
นายเกิ่ง ส่วง เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยขยายความร่วมมือในการผลิตวัคซีน การวิจัยและพัฒนายารักษาโรค เพื่อประกันการกระจายวัคซีนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังต้องเร่งการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา และลดความเหลื่อมล้ำในการสร้างภูมิคุ้มกัน
นายเกิ่ง ส่วง เน้นย้ำว่า ควรตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประเทศกำลังพัฒนาในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี 2030 โดยเน้นที่การส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลดความยากจน การเชื่อมต่อ ความมั่นคงด้านอาหาร การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งต้องประกันและปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกระบวนการพัฒนา และให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา
สำหรับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายเกิ่ง ส่วง กล่าวว่า ต้องยึดหลักการที่มีความรับผิดชอบร่วมกันแต่แตกต่างกัน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและดำเนินการตามผลลัพธ์ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 ประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องนำหน้าในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปฏิบัติตามพันธกรณีในการให้การสนับสนุนทางการเงินและเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน
(yim/cai)