ในวาระตรุษจีนปีเสือ 2565 นี้ แม้บรรยากาศงานเฉลิมฉลองตรุษจีนในประเทศไทยจะดูไม่ครื้นเครงเช่น 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนสถานการณ์โรคระบาดจะเกิดขึ้น
แต่กระนั้นก็ยังมีบทเพลงไพเราะ ที่ร้องร่วมกันโดยคนไทยกับคนจีนเพื่อแสดงถึงความระลึกถึงกันในช่วงเวลาที่ไม่สามารถไปมาหาสู่กันในช่วงกว่า 2 ปีนี้
อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ประพันธ์เพลงนี้ได้กล่าวว่า “ผมเดินทางไปจีนปีละหลายหน เพื่อทำงานและเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ และมิตรสหายมาโดยตลอด แต่ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาเนื่องจากเหตุการณ์โรคระบาดทำให้เดินทางไปไม่ได้ ครูบาอาจารย์บางท่านก็จากเราไปโดยที่เราไม่มีโอกาสได้พบท่านเป็นครั้งสุดท้าย มิตรสหายที่เคยเจอกันทุกปีก็ไม่ได้เจอกัน ความรู้สึกคิดถึงที่สั่งสมมานานทำให้เกิดบทเพลงนี้ขึ้น”
ด้วยประสบการณ์ที่เคยเรียนดนตรีกับ ศาสตราจารย์โจวเวย(周薇教授) จากสถาบันดนตรีนครซ่างไห่(上海音乐学院)ในวัยเด็กทำให้อาจารย์เอกรัตน์ได้ประพันธ์เนื้อร้อง,ทำนองและเล่นดนตรีประกอบเองในเพลงนี้ด้วย
ในส่วนของนักร้องคู่ฝ่ายหญิงนั้น ได้รับเกียรติจากอาจารย์หวังเย่ลี่(王业莉)ครูจากโรงเรียนนานาชาติเป่ยจิงซื่อซูเฉ่าตี้ สาขากุ้ยหยาง(北京市芳草地国际学校贵阳分校)ที่เคยมาเข้าโครงการแลกเปลี่ยนที่อาจารย์พูลศักดิ์ ประณุทนรพาล เลขาธิการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นผู้ริเริ่มให้กับคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
โดยคุณหวังเย่ลี่ ได้ใช้เวลาหัดเนื้อเพลงภาษาไทยเพียงหนึ่งวันและร้องส่งคลิปจากจีนมาประกอบให้ โดยคุณหวังเย่ลี่กล่าวว่า
“การที่เราได้พบกันเป็นความงดงามที่สุดในชีวิต
โชคดีที่สุดในการได้มาแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนคือการได้พบเจอเพื่อนๆและอาจารย์ชาวไทยทุกท่าน
บทเพลงคิดถึงกัน(相念)ของอาจารย์เอกรัตน์ ที่มีท่วงทำนองอ่อนหวานขึ้นลงเหมือนเกลียวคลื่น สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนไทยที่ระลึกถึงเพื่อนพี่น้องชาวจีนอย่างลึกซึ้ง
หวังว่าสถานการณ์โรคระบาดจะจบลงในเร็ววัน เมื่อฝนซาฟ้าสดใสจะได้เจอกันอีกครั้ง”
อาจารย์เอกรัตน์ได้แต่งเนื้อร้องในท่อนสุดท้ายไว้ว่า “ผืนแผ่นดินสีทองจะงามเรืองรองคู่เคียงตะวัน”(金色的大地与太阳熠熠生辉) ซึ่งความหมายของประโยคนี้ อาจารย์เอกรัตน์ได้อธิบายไว้ดังนี้
“คำว่า แผ่นดินทอง แทนความหมายถึง สุวรรณภูมิ หรือประเทศไทย และคำว่าตะวันนั้นคือประเทศจีน(东方红,太阳升)
ผืนแผ่นดินนั่นอยู่คู่กับดวงอาทิตย์ฉันใด จีนและไทยจะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อประสบความสำเร็จไปด้วยกัน(共赢)ฉันนั้น”
บทความโดย: ดร.กฤตติกา เศวตอมรกุล
รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์