บทวิเคราะห์ : อาเซียนเผชิญบททดสอบ 3 ประการ

2022-02-23 09:19:20 | CRI
Share with:

บทวิเคราะห์ : อาเซียนเผชิญบททดสอบ 3 ประการ

ภายใต้สถานการณ์ที่โควิด-19 แพร่ระบาดใหญ่และมหาประเทศเป็นปฏิปักษ์กันมากยิ่งขึ้น อาเซียนได้เผชิญบททดสอบ 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาเมียนมา ความคืบหน้าของ RCEP และการปกป้องความสมดุลของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอาเซียนจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งแรกในปีนี้ แต่เมียนมาไม่ได้เข้าร่วมประชุม นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เมียนมาไม่เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อจากเมื่อเดือนตุลาคม 2021 หลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อหนึ่งปีก่อน สถานการณ์เมียนมาเป็นที่สนใจของประชาคมโลก เมื่อเดือนเมษายน 2021 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ได้ประชุมหารือกันที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยได้บรรลุ “ฉันทามติ 5 ประการ” ของอาเซียนเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤตเมียนมา เดือนตุลาคม 2021 อาเซียนตกลงไม่เชิญพล.อ.มิน อ่อง หล่ายร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยอ้างว่า เมียนมาไม่มีผลคืบหน้าในการปฏิบัติตาม “ฉันทามติ 5 ประการ”

ภายในอาเซียนมีความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาเมียนมาดำรงอยู่ โดยมีบางประเทศเสนอให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา แต่บางประเทศเห็นว่าควรคว่ำบาตรทางการทหารต่อเมียนมา ดังนั้นการขจัดความขัดแย้งภายในอาเซียน ศึกษาค้นคว้าวิธีแก้ไขปัญหาเมียนมา เพื่อช่วยให้เมียนมากลับคืนสู่อาเซียน ตลอดจนปกป้องความสามัคคีและความสมบูรณ์ของอาเซียน จึงเป็นบททดสอบของอาเซียน

บทวิเคราะห์ : อาเซียนเผชิญบททดสอบ 3 ประการ

ทั้งนี้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีอาเซียนเป็นผู้ริเริ่ม ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน รวมกับอีก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 ความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากที่สุดในโลก มีสมาชิกหลากหลาย และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลกฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงด้านผลิตภัณฑ์ การค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศสมาชิก

ทว่าเมื่อเทียบกับข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับอื่น ๆ ถึงแม้ว่า RCEP มีความเหนือกว่าด้านขนาด แต่เมื่อกล่าวถึงเนื้อหารายละเอียดและมาตรการที่เป็นรูปธรรม ความตกลงฉบับนี้ยังต้องมีการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนถึงปัจจุบันอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมายังไม่ได้อนุมัติความตกลงฉบับนี้ภายในประเทศ การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแบ่งปันผลสำเร็จจาก RCEP ทัดเทียมกับประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บรรลุความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเศรษฐกิจส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 การใช้ RCEP เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกันการเปิดกว้างของตลาด และความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานนั้น เป็นบททดสอบอีกข้อหนึ่งของอาเซียน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งชื่อว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ โดยมุ่งที่จะพัฒนาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้มีเสรีภาพและเปิดกว้างยิ่งขึ้น อีกทั้งเชื่อมโยงความเจริญรุ่งเรือง ปลอดภัย และมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า สหรัฐฯ จะร่วมมือกับประเทศพันธมิตร หุ้นส่วนความร่วมมือ ตลอดจนองค์การส่วนภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเสริมทักษะความสามารถของส่วนรวม ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไบเดนกำหนดนโยบายและเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม 10 ประการที่จะปฏิบัติใช้เป็นสำคัญภายในเวลา 1 - 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปธน.โจ ไบเดนจะเดินทางเยือนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครึ่งแรกปีนี้

ทั้งนี้ การวางตำแหน่งอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) เป็นหลักการพื้นฐานของอาเซียนในการพัฒนา ความสัมพันธ์และดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศ บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศเพื่อนบ้านฉันมิตรกับจีน จีนกับอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกัน ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนได้ยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 การรักษาตำแหน่งอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง ปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันไม่มีส่วนร่วมในการแก่งแย่งกันระหว่างมหาประเทศ เป็นบททดสอบของอาเซียนด้วย

เชื่อว่าอาเซียนจะสามารถตอบบททดสอบ 3 ข้อดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยจะสร้างสรรค์อาเซียนให้เป็นประชาคมที่เข้มแข็ง มีชีวิตชีวา สันติภาพ และไพบูลย์

(Tim/Zhou)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)

周旭