วันที่ 8 มีนาคม นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจัดประชุมสุดยอดกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีผ่านระบบทางไกล
โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งกับการเกิดสงครามในทวีปยุโรปอีกครั้ง จีนสนับสนุนให้รัสเซียและยูเครนทั้งสองฝ่ายเอาชนะความยากลำบาก ดำเนินการเจรจาสันติภาพต่อไป เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความสงบสุข จีนยังสนับสนุนฝรั่งเศสและเยอรมนีในการส่งเสริมการสร้างกรอบความมั่นคงของยุโรปที่สมดุล มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงที่ยั่งยืนของยุโรป จีนยินดีที่จะเห็นการเจรจาที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างสหภาพยุโรป รัสเซีย สหรัฐฯ และองค์การนาโต
คำพูดดังกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า จีนในฐานะประเทศขนาดใหญ่ได้แสดงจุดยืนของตนอย่างมีเหตุผลมาโดยตลอด และกล้าออกมาแสดงบทบาทของตนที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีความยุติธรรม และมีความรับผิดชอบ
การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในยูเครนมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อนมาก ในเรื่องนี้ นาโตที่นำโดยสหรัฐฯมีความรับผิดชอบที่บ่ายเบี่ยงไม่ได้ หากต้องการแก้ไขวิกฤตนี้ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตดังกล่าวต้องละทิ้งแนวคิดสงครามเย็น และแบกรับความรับผิดชอบที่พึงมี แทนที่จะราดน้ำมันเข้าไปยังกองไฟและโยนความผิดให้แก่ผู้อื่น
ผู้ที่ไม่ใส่แว่นสีล้วนมองเห็นได้ว่า จุดยืนของจีนมีความตรงไปตรงมา โดยพยายามโน้มน้าวให้ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งดำเนินการเจรจาสันติภาพ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหายูเครนผ่านวิถีทางการเมือง ความคิดริเริ่มของจีนดังกล่าวไม่เพียงแต่มีความสำคัญยิ่งในการหลีกเลี่ยงไม่ให้สงครามทวีความรุนแรงขึ้นเท่านั้น หากยังจะสร้างเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนด้วย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยังกล่าวด้วยว่า จีนสนับสนุนฝรั่งเศสและเยอรมนียึดมั่นในยุทธศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองของยุโรป เพื่อรักษาประโยชน์ และความมั่นคงที่ยั่งยืนของยุโรป นี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับสหภาพยุโรปในการไตร่ตรองและรับมือกับวิกฤตในขณะนี้ ด้านหนึ่ง ฝรั่งเศสและเยอรมนีในฐานะ “หัวรถจักร” ของสหภาพยุโรป ควรดำเนินการอย่างสุขุมระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการคว่ำบาตรจนทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น อีกด้านหนึ่ง เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยุโรปที่ได้รับผลกระทบก็ต้องพิจารณาอย่างมีเหตุมีผล และยอมรับต้นเหตุที่แท้จริงของวิกฤตยูเครน
จีนและสหภาพยุโรปในฐานะเป็นสองพลังสำคัญในประชาคมระหว่างประเทศ มีความเข้าใจกันในการรักษาสันติภาพ แสวงหาการพัฒนา และส่งเสริมความร่วมมือ จึงควรที่จะแสดงบทบาทที่พึงมีของตน เพิ่มความมั่นคง และความแน่นอนให้แก่โลกที่กำลังเกิดความวุ่นวายและเปลี่ยนแปลง
(yim/cai)