เมื่อเร็วๆ นี้ นาย Moin ul Haque เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศจีนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจีนว่า ความร่วมมือภายใต้กรอบแนวคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เติมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของปากีสถาน การก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) ซึ่งเป็นโครงการหลักภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ทำให้เศรษฐกิจปากีสถานได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน
ทูตปากีสถานประจำจีนกล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ทำให้ปากีสถานเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกอย่างมาก ปีหลังๆ มานี้ โครงสร้างพื้นฐานในปากีสถานได้รับการปรับปรุงดีขึ้น อุปกรณ์ด้านพลังงานได้รับการยกระดับให้สูงขึ้น ท่าเรือกวาดาร์ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าสำหรับระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน
ที่เมืองลาฮอร์ เมืองใหญ่อันดับสองในปากีสถาน รถไฟใต้ดินสายสีส้ม ซึ่งเป็นรถไฟใต้ดินสายแรกในปากีสถานได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2020 รถไฟสายดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือในระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน โดยวิสาหกิจจีนมีส่วนร่วมในการก่อสร้างและบริหารการเดินรถของรถไฟใต้ดินสายนี้
ทูตปากีสถานประจำจีนยังกล่าวด้วยว่า ประโยชน์จากความร่วมมือ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ทำให้ประชาชนเมืองลาฮอร์มีโอกาสใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และราคาถูก เขายังเน้นว่าความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้สร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนปากีสถาน การดำเนินความร่วมมือในโครงการนี้ทำให้เกิดการสร้างงาน ปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การขจัดความยากจน และการปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังช่วยปรับเปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมของปากีสถานให้ดีขึ้นด้วย
จนถึงขณะนี้ความร่วมมือภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้สร้างงานกว่า 70,000 ตำแหน่ง ตามการคาดการณ์ของรัฐบาลปากีสถาน จะมีการสร้างงานอีกประมาณ 5 แสนตำแหน่งทั้งทางตรงและทางอ้อมในอีก 5-7 ปีข้างหน้า
ปากีสถานเริ่มพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยแห่งชาติ ขณะนี้กำลังแสวงหาความร่วมมือกับจีนมากขึ้นในด้านอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ปากีสถานและจีนได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเกี่ยวกับความร่วมมือในระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ครั้งที่ 10
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตในกรุงปักกิ่งในปี 2020 เป็นต้นมา นาย Haque ได้ไปดูงานที่ “จงกวนชุน” เขตสาธิตนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรุงปักกิ่งหลายครั้ง เขาเห็นว่า ปากีสถานสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีไอที , ปัญญาประดิษฐ์, 5จี , หุ่นยนต์ และคลาวด์คอมพิวติ้งจากจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปากีสถานและสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมในโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของเขตจงกวนชุน ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพระหว่างสองฝ่ายในระดับสูง
เขากล่าวว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ปากีสถานต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในด้านอื่นๆ มากขึ้น ตัวเขาเองเริ่มศึกษาแนวคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ตั้งแต่ปี 2015 ช่วงที่ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ทำให้เขามีโอกาสเป็นสักขีพยานในการลงนามโครงการความร่วมมือต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน และได้เห็นประเทศได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าว
(bo/cai)