วันที่ 13 สิงหาคมนี้ การประชุมสัมมนาเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ครั้งที่ 5 ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้คือ "การสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน" และ "การสร้างระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง – สิงคโปร์" ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมเห็นว่า ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง – สิงคโปร์จะกลายเป็น"เส้นเลือดใหญ่"ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยจะส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่ง อำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ประเทศต่างๆ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจนี้
การสร้างระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง – สิงคโปร์เป็นเนื้อหาสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือจีน-อาเซียน นายหม่าเปียว ประธานเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซีกล่าวในที่ประชุมสัมมนาเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ครั้งที่ 5 ว่า
"ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง–สิงคโปร์จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมเศรษฐกิจภาคใต้ของจีนกับประเทศอาเซียน โดยจะเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างสิงคโปร์กับเมืองฮานอยของเวียดนาม และเมืองหนานหนิงของจีน อีกทั้งเชื่อมต่อเส้นทางสู่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือของจีนโดยอาศัยเครือข่ายรถไฟของจีน เป็นการเชื่อมจีน-อาเซียนโดยเส้นทางทางบกและทางทะเล พัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างจีน-อาเซียนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือจีน-อาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น"
แนวคิดในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง–สิงคโปร์เริ่มขึ้นในที่ประชุมสัมมนาเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2006 โดยเริ่มต้นเส้นทางจากนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี เชื่อมต่อเส้นทางสู่กรุงฮานอยของเวียดนาม – กรุงเวียงจันทน์ของลาว (หรือกรุงพนมเปญของกัมพูชา) - กรุงเทพฯ ของไทย– กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยอาศัยเส้นทางรถไฟและทางหลวงของ 7 ประเทศโดยครอบคลุมประเทศพม่าด้วย
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทยกล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยในฐานะที่เป็นประเทศในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง–สิงคโปร์ได้พยายามพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อให้เชื่อต่อกับประเทศรอบข้างได้ เขากล่าวว่า
"เส้นทางการเชื่อมโยงระบบรางในการขนส่งสินค้าเเละผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นจากกวางสีไปเวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เพื่อสนองตอบต่อแนวทางหนานหนิง-สิงคโปร์ หรือว่าเส้นทางจากหนานหนิงไปยังลาวผ่านประเทศไทยไปมาเลเซียเเละสิงคโปร์ ล่าสุดนี้รัฐบาลไทยได้มีมติที่จะร่วมลงทุนกับรัฐบาลจีนในการสร้างรถไฟความเร็วสูง เเล้วก็ระบบสี่รางทางคู่ ซึ่งก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาโลจิสติกส์ โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์การค้า " (cai)