ความฝันของนายแดเนียล เซห์นเดอร์ เจ้าหน้าที่รัฐสภาของสวิตเซอร์แลนด์
  2010-09-10 14:29:28  cri

จะใช้ชีวิตหลังเกษียณที่มณฑลยูนนาน

 

นายแดเนียล เซห์นเดอร์เป็นผู้บริหารฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ เคยทำงานและพำนักอยู่ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน และกรุงปักกิ่งรวมเวลา 4 ปี เขากล่าวขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกิจกรรม "การจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวของจีน ปี2010" ว่า ทิวทัศน์ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่พิเศษงดงามเป็นจิตวิญญาณของเมือง การท่องเที่ยวก็เป็นกระบวนการสัมผัสทางจิตใจระหว่างนักท่องเที่ยวและเมือง พร้อมกล่าวว่า จะไปใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองเออร์ไห่ มณฑลยูนนาน ที่ซึ่งมีภูเขาหิมะและทะเลสาบเหมือนบ้านเกิดของเขา

ชีวิตที่มีความสุขในเมืองคุนหมิง

ในปี 1989 นายแดเนียล เซห์นเดอร์ได้สัมผัสประเทศจีนเป็นครั้งแรก โดยได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลท้องถิ่นเมืองซูริค ให้เป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันในคอร์สฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยคุนหมิง เวลา 2 ปีที่เป็นอาจารย์ในคุนหมิงเป็นความทรงจำที่สวยงามและน่าประทับใจของนายแดเนียล เซห์นเดอร์ เขาบอกว่า ปกติเขาจะขี่จักรยานไปทำงานและกลับบ้าน โดยผ่านถนนและซอกซอยต่าง ๆ ในเมืองคุนหมิง ในยามว่าง เขาจะไปเที่ยวทั่วทุกแห่ง ทะเลสาบเตียนฉือที่สวยงาม บ้านโบราณของเมืองคุนหมิง ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของชนชาติส่วนน้อย และวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาที่นำพาให้คนพ้นทุกข์ ล้วนทำให้เขาหลงใหล เขากล่าวถึงเรื่องสนุกเมื่ออยู่ที่เมืองคุนหมิงว่า เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เมืองคุนหมิงยังมีชาวต่างประเทศไม่มาก อีกทั้งไม่ได้เปิดตัวสู่ภายนอกหรือมีความทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน แม้ว่านายแดเนียล เซห์นเดอร์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว แต่เขายังคิดถึงอาหารของบ้านเกิด เขาได้พบสิ่งหนึ่งที่เขตชนชาติส่วนน้อยด้วยความบังเอิญว่า ชาวบ้านทำอาหารชนิดหนึ่งที่ทำจากนมแพะที่เรียกว่า "หรูปิ่ง" (乳饼) ซึ่งก็คืออาหารชนิดเดียวกับเนยแข็งที่บ้านเกิดของเขานั่นเอง เขาคาดไม่ถึงว่ามณฑลยูนนานก็มีเนยแข็งด้วย จะไม่ให้รู้สึกตื่นเต้นดีใจได้หรือ!นอกจากนี้ ยังมีเห็ดยูนนานนานาชนิดที่แสนอร่อย เมื่อถึงฤดูกาลของเห็ดวางขายในท้องตลาด เขาก็จะกินเห็ดอย่างอุตลุด 2 ปีแห่งความสุขในเมืองคุนหมิงทำให้นายแดเนียล เซห์นเดอร์สัมผัสถึงความมหัศจรรย์ของ "เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ" และยังได้คบเพื่อนอีกหลายคน เขากล่าวว่า ขณะนี้ก็ยังติดต่อกับเพื่อนชาวจีนที่เมืองคุนหมิงอยู่ถึง 7 คน ทุกครั้งที่มาจีน หากมีโอกาสก็จะไปเยี่ยมพวกเขา

เมื่อได้ยินว่าผู้สื่อข่าวยังไม่เคยไปมณฑลยูนนาน นายแดเนียล เซห์นเดอร์เป็นห่วงว่าผู้สื่อข่าวจะรู้จักเสน่ห์ของมณฑลยูนนานไม่พอ จึงเล่าอีกเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า เพื่อนของเขาที่มาจากนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเสร็จสิ้นการทำงานที่จีนแล้ว กลับละทิ้งโอกาสที่จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด เขากลับลงหลักปักฐานอยู่ที่หมู่บ้านนานาชาติของเมืองเชียงรุ่งในเขตสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน กับภรรยาชาวจีน และเปิดร้านอาหารฝรั่งรสชาติสวิส มีชีวิตที่สุขสบายดังเทวดา นายแดเนียล เซห์นเดอร์ยังบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขาจะมาอยู่ที่จีนหลังเกษียณอายุ และตั้งใจจะอยู่ที่เมืองเออร์ไห่ มณฑลยูนนาน ที่ซึ่งเขารักที่สุด เขาบอกว่า เขารักชาวยูนนาน และก็รักภูเขาหิมะและทะเลสาบที่เหมือนบ้านเกิดของเขา

สัมผัสกลิ่นอายปักกิ่ง

ปีค.ศ. 2000 นายแดเนียล เซห์นเดอร์ได้เริ่มวาระการประจำการที่ประเทศจีนเป็นครั้งที่สอง ในฐานะเป็นที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมของสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศจีน หลังจากเขาได้ประจำประเทศจีนเมื่อ 10 ปี ก่อน นายแดเนียล เซห์นเดอร์กล่าวว่า ปี 2000 กรุงปักกิ่งได้กลายเป็นเมืองใหญ่ระดับนานาชาติที่ทันสมัยไปทั่วทุกด้านแล้ว ในเวลานั้นที่ทำงานของเขาอยู่ที่ชั้น 28 ของกลุ่มอาคาร Soho ที่ทันสมัยในศูนย์กลางธุรกิจของกรุงปักกิ่ง ซึ่งรายล้อมไปด้วยตึกสูงระฟ้าตั้งตรงดังป่าคอนกรีตของเขตการค้า (Central business District หรือ CBD) มีเครือข่ายการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว มีห้างสรรพสินค้าและร้านรวงมากมายที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง และมีสถานที่ทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่ เป็นต้น ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เขาได้สัมผัสกับไลฟสไตล์ของเมืองหลวงขนาดใหญ่ ซึ่งต่างกันมากเมื่อเทียบกับชีวิตความเป็นอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาเห็นว่า ถ้ากล่าวในด้านสภาพของความเจริญรุ่งเรือง กรุงปักกิ่งไม่แพ้เมืองขนาดใหญ่ในโลกเลย เช่น นิวยอร์ค ปารีส เป็นต้น ในช่วงสองปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปักกิ่งที่เต็มไปด้วยความคึกคักจอแจของเมืองใหญ่ ทำให้นายแดเนียล เซห์นเดอร์บางครั้งรู้สึกสับสนไม่ทราบว่าตนเองกำลังอยู่ในกรุงปักกิ่งหรือกรุงนิวยอร์ค ตรงข้ามกับสภาพที่ทันสมัยนี้ ในกรุงปักกิ่งยังมีพระราชวังต้องห้าม หอบูชาเทียนถาน และทะเลสาบสือซ่าไห่ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงปักกิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเขามากกว่า เขากล่าวว่า บางครั้ง เขารู้สึกว่าน่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ตรอกเล็กซอยน้อยหรือว่า "หูท่ง" ในกรุงปักกิ่งได้สูญหายไปมาก เขารู้สึกว่า ในกระบวนการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยนั้น การจะอนุรักษ์โบราณสถานไว้เป็นปัญหาและความท้าทายของทั่วโลก ถ้าจัดการได้ดี ความขัดแย้งนี้ใช่ว่าจะไม่สามารถจัดการให้ลงตัวได้ เขายังยกตัวอย่างว่า กรุงเบอร์นนครหลวงอันเก่าแก่ของสวิตเชอร์แลนด์เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่กำหนดโดยองค์การยูเนสโกนั้น รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้ประกาศกฎระเบียบอย่างเข้มงวดเพื่ออนุรักษ์เมืองโบราณแห่งนี้ และเพื่ออำนวยความสะดวกด้านชีวิตความเป็นอยู่ ชาวเมืองที่อาศัยในเมืองโบราณสามารถตกแต่งภายในบ้านโบราณได้ เช่น ติดตั้งน้ำประปา และเครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น แต่ว่า ขณะดำเนินการตกแต่ง จะต้องรักษาภาพลักษณ์เดิมไว้เป็นอย่างดี แม้กระเบื้องบนหลังคาและหน้าต่างก็ตาม ล้วนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เขาหวังว่า ขณะพัฒนาเมืองเก่าในกรุงปักกิ่งควรปฏิบัติตามหลักการนี้

NL/Jiang/Lj/Chu

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040