การประชุมรัฐมนตรีของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปค ปิดฉากลงที่เมืองโยโกฮามาประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมได้ผ่านแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่งโดยเน้นว่าต้องผลักดันการสร้างสรรค์ระบบการค้าเสรีในช่วงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปคให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แถลงการณ์ระบุว่า ผู้นำเอเปคจะเดินหน้าต่อต้านลัทธิปกป้องทางการค้า
การประชุมรัฐมนตรีครั้งนี เป็นเวลาสองวัน มีผู้แทน 21 ชาติสมาชิกเข้าร่วม โดยนายเซอิจิ มาเอฮาระ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นกับนายอากิฮิโระ โอฮาระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ร่วมเป็นประธานการประชุม นายหลิว เจิ้นหมิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศและนายอี้ เสี่ยวจุ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีนเป็นผู้แทนจีนเข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมประกาศแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ในระหว่างเปิดประชุมเป็นเวลาสองวัน ผู้ที่ร่วมประชุมได้อภิปรายสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก ประเมินผลงานด้านต่างๆ ของเอเปคภายในหนึ่งปีที่ผ่านมา และหารืออนาคตของเอเปค
ที่ประชุมเน้นการอภิปรายว่าด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกโดยระบุว่า ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นผู้นำการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก แต่ว่าเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง บรรดาสมาชิกจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และพยายามให้การเติบโตมีความสมดุล ยั่งยืน มีการสร้างนวัตกรรมใหม่และมีความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีจะยื่นยุทธศาสตร์นี้ต่อการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 13-14 พฤศจิกายนนี้
ผู้ร่วมประชุมยังอภิปรายถึงผลคืบหน้าการเจรจาการค้ารอบโดฮา ที่ประชุมยังออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการเจรจารอบโดฮา เพราะทุกชาติเห็นพ้องว่า ปีหน้าเป็นปีแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อในการทำให้การเจรจารอบโดฮาบรรลุเป้าหมายการลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการลดภาษีศุลกากรและที่ไม่ใช่ด้านภาษี
ที่ประชุมเห็นว่าความช่วยเหลือด้านการค้าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ชาติสมาชิกสามารถบรรลุการเจรจารอบโดฮาได้ ซึ่งหมายความว่าอาจมีการช่วยเหลือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการค้า
นอกจากนั้น ที่ประชุมระบุว่า การทำข้อตกลงการค้าเสรีคงไม่จำกัดแค่การเปิดตลาด แต่ต้องพิจารณาเรื่องอื่นประกอบเช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน การปรับปรุงมาตรการในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ
อีกประเด็นหนึ่ง คือ การกระชับความร่วมมือทางภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าหากเขตเศรษฐกิจเอเปคต้องการทำการค้าเสรี ควรจะทำนอกกรอบเอเปค ขณะที่เอเปคควรเป็นกลไกขับเคลื่อนหรือเป็นผู้ให้การบ่มเพาะ และการจัดทำเขตการค้าของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็ควรเริ่มจากฐานที่มีอยู่แล้ว คือฐานอาเซียน 10 ประเทศ อาเซียนบวกสาม อาเซียนบวกหกโดยเพิ่มอินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อีกสามประเทศ และเพิ่มความเป็นหุ้นส่วนข้ามทวีปแปซิฟิก
NL/QI