ปิดฉากประชุมเอเปกพร้อมประกาศ "ปฏิญญาโยโกฮามา"
  2010-11-15 12:14:05  cri
การประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 18 ของผู้นำประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ณ เมืองโยโกฮามา ญี่ปุ่น เป็นเวลา 2 วันสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พร้อมมีการประกาศ "ปฏิญญาโยโกฮามา" ที่ประชุมได้สรุปผลการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและสภาพในปัจจุบัน อีกทั้งทำการประเมินผลการปฏิบัติตาม "เป้าหมายจากการประชุม ณ เมืองโบกอร์ เมื่อปี 1994"

ประเด็นหลักของการประชุมฯ ผู้นำเอเปกในครั้งนี้คือ "การปฏิรูปกับปฏิบัติการ" สำหรับ "ปฏิญญาโยโกฮามา" ที่ผ่านในที่ประชุมระบุว่า ศตวรรษที่ 21 ได้นำมาซึ่งโอกาสและการท้าทายใหม่ให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีอิทธิพลในเศรษฐกิจโลกมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อประกันให้เศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคมีความมั่นคง ความยั่งยืนและความสมดุล จึงควรเสริมสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและระบบการค้าของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ส่วนวาระสำคัญ 3 ประการของการประชุมเอเปกครั้งนี้คือ "การประเมินเป้าหมายโบกอร์" "การกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก" และ "วิถีทางที่เป็นไปได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวกัน" ซึ่งในที่ประชุมมีการประกาศเอกสาร 3 ฉบับเกี่ยวกับวาระดังกล่าวตามลำดับ

สำหรับ "การประเมินเป้าหมายโบกอร์" นั้น "ปฏิญญาโยโกฮามา" ระบุว่า ประเทศและเขตแคว้นต่างๆ ในภูมิภาคได้ใช้ความพยายามในการทำลายกำแพงการค้า การลงทุนทั่วทั้งภูมิภาคให้น้อยลง และเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุนในภูมิภาคให้มากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างยั่งยืน ระบบสวัสดิการมีการปรับปรุงดีขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ "ปฏิญญาโยโกฮามา" ยังระบุด้วยว่า ที่ประชุมมีมติให้ปี 2020 เป็นปีแห่งการบรรลุซึ่ง "เป้าหมายโบกอร์" เพื่อเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวกันต่อไป ฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมประชุมมีมติว่า จะใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อไปถึงเป้าหมายการสร้าง "เขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก" นอกจากนี้ ยังมีการรับรองกรอบสำคัญๆ 3 กรอบในการไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ "ข้อตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ข้ามแปซิฟิก" (APP) กลไกความร่วมมือ "10+3" ระหว่างประเทศอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจน กลไกความร่วมมือ "10+6" ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "10+3" ซึ่งมีอินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นมาอีก 3 ประเทศ

สื่อมวลชนมีความเห็นว่า การประชุมเอเปกครั้งนี้มีฉันทามติอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและการคาดหวังในอนาคต ซึ่งประสบความสำเร็จมากมายอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้จริง หลังวิกฤตการเงินโลกผ่านพ้นไป ฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมประชุมได้กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจตามฉันทามติที่ทำกันไว้เมื่อปี 2009 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการเติบโตและอำนาจของทั่วทั้งภูมิภาค

(Ton/LING)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040