เรียงความที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในกิจกรรมประกวดเรียงความ "มองจีนผ่านซีอาร์ไอ" (3)
  2011-03-10 16:56:55  cri

กิจกรรมประกวดเรียงความ "มองจีนผ่านซีอาร์ไอ" ในวาระฉลองครบรอบ 60 ปี ภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุซีอาร์ไอ สาธารณรัฐประชาชนจีน และ 35 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2553 มีผู้เขียนเรียงความส่งเข้าประกวดจำนวน 180 ฉบับ หลังจากผ่านการพิจารณคัดเลือกโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว คณะกรรมการตัดสินได้คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ท่าน และรางวัลพิเศษ 20 ท่าน ต่อไปนี้เป็นเรียงความที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 

เรียงความ ฉลองครบรอบ 60 ปี ภาคภาษาไทยป็อาร์ไอ หัวข้อ "มองจีนผ่านซีอาร์ไอ"

ชาวไทยชื่นชมในความก้าวหน้าการพัฒนาประเทศของจีน และในไมตรีสัมพันธ์ระหว่างเราสองชนชาติ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ นี้ ข่าวจีนยิ่งอยู่ในใจของไทย ไม่ว่าจะเป็น การก้าวขึ้นเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ ๒ ของโลก โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนแซงหน้าญี่ปุ่น จีนเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงรายใหญ่อันดับ ๓ ในธนาคารโลก และเป็นสมาชิกรายใหญ่อันดับ ๓ ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นอกจากนี้อาเซียนซึ่งไทยก็เป็นสมาชิกก่อตั้ง เลื่อนจากการเป็นคู่ค้าอันดับ ๔ ขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ ๒ ของจีน และปีนี้จีนยังกลายเป็นหุ้นส่วนการค้าหมายเลขหนึ่งของไทย ด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทย-จีนแซงหน้า ยอดการค้าที่ไทยเคยมีกับญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ทำให้รู้สึกได้ชัดว่าจีนเนื้อหอมมาก

การพูดคุย การรับและส่ง "สาร" ระหว่างกันจะนำมาซึ่งความใกล้ชิด และความเข้าใจ การทำหน้าที่เป็น "ตัวกลาง" ที่เที่ยงตรง รวดเร็วของสถานีวิทยุซีอาร์ไอ การรายงานข่าวที่ CRI เป็นสื่อกลางยังทำให้ชาวไทยและชาวโลก ทราบถึงความมีน้ำใจอันกว้างขวางของ CRI ตลอดถึงสื่อมวลชนจีน อาทิ ข่าวการกู้ภัยในเหตุแผ่นดินไหวอวี้ซู่ มณฑลชิงไห่ อย่างเต็มที่และการจัดงานวันไว้อาลัยระดับชาติแก่ผู้เสียชีวิต ข่าวจีนพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้คาร์บอนต่ำและส่งเสริมการประหยัดพลังงาน โดยมุ่งมั่นไม่ตามรอยประเทศตะวันตก ข่าวเชิงวิเคราะห์ว่าจีนกับอาเซียนมีลักษณะส่งเสริมซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ กระทั่งข่าวมนุษย์พันธุ์ใหม่ชาวจีนที่ "ไม่ทน ไม่สน ไม่สู้" เป็นต้น

อนึ่ง การที่ CRI มิได้ฮึกเหิมนักต่อข่าวการก้าวขึ้นเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ ๒ ของโลก ด้วยการรายงานภาพอีกด้านว่า ควรพิจารณารายได้เฉลี่ยต่อคน และเสริมข้อเท็จจริงที่ว่าจีนมีประชากรมหาศาล ทั้งยังเป็นเกษตรกรจำนวนมาก พื้นฐานที่ไม่มั่นคง ยังต้องการการลงทุนด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเร่งด่วน และทรัพย์สินของประเทศก็ยังต้องพัฒนาขยายต่อไปอีก สะท้อนว่า CRI เป็นสื่อที่มีความสมดุล ระหว่างช่องว่างของคนที่สามารถอยู่เศรษฐกิจระดับ "วงใน" กับ "คนชายขอบ" ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต น่ายกย่อง CRI อย่างสูง เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ มีหลากด้านหลายมุมมอง และการที่สื่อยอมรับด้านต่างๆ อย่างไม่เอนเอียงข้างใดข้างเดียวไปสุดโต่ง จะคลายความกังวลของมหาชนผู้รับสาร ลงได้ ทั้งยังนำไปสู่ความยอมรับ สร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล

ข่าวการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่ชาวจีนเมื่อเกิดพิบัติภัย สะท้อนให้เห็นชัดว่า นอกจากชาวจีนจะมีน้ำใจสามัคคีช่วยเหลือกันเต็มกำลังแล้ว ชาวจีนยังมีคุณลักษณะพิเศษที่หาได้ยากในชนชาติอื่น คือ ชาวจีนยิ้มสู้ได้แม้เมื่อมีภัย

คุณลักษณะความทุ่มเทด้วยหัวใจของชาวจีน ยังแสดงออกมาแม้ในข่าวเล็กๆ อาทิ ข่าวการติดตามละครไทยของชาวจีน ซึ่งชาวจีนหลายๆ คนร่วมมือและแบ่งกันทำงานแปล "ซับไตเติ้ล" ละครไทยด้วยความทุ่มเท ด้วยใจรัก แม้อาจจะยาก ไม่มีค่าตอบแทน ทั้งยังมีกลุ่มแฟนคลับดาราละครไทยอีก

การที่จีนยืนยันอย่างมุ่งมั่นในนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะกระชับมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านของจีนทางตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีในสายตาชาวโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตก อย่างไรก็ดีถ้าเรามองโลกแบบชาวเอเซียว่า มิตรภาพที่จีนมีเป็นการดีกว่าที่จะปล่อยให้ประเทศนั้นโดดเดี่ยว และหวังใจว่าจีนจะช่วยโลกได้เชื่อมความเข้าใจอันดี ตลอดจนจีนจะสามารถมีบทบาทลดความประหวั่นของชาวโลกที่มีต่อประเทศนั้น ที่สำคัญคือ จีนจะยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีต่อไปไม่เสื่อมคลาย

ส่วนข้อแนะนำเล็กน้อยจากผู้ฟังคนหนึ่งคนนี้ ก็คือ การอ่านข่าว มีการใช้ปี พ.ศ. สลับกับปี ค.ศ. ในข่าวเดียวกัน ยิ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเปรียบเทียบกัน ก็ต้องมานั่งบวกลบ ๕๔๓ ขอเสนอว่าควรใช้ปีแบบใดแบบเดียว (ถ้าทำได้) อยากขอให้ใช้ปีพุทธศักราช เพราะนอกจากพุทธศักราชจะอาวุโสกว่า ยังสื่อแสดงถึงภูมิปัญญาเอกลักษณ์โลกตะวันออกที่สั่งสมมาลึกซึ้ง

ช่วง "คุยกันวันละประเด็น" เห็นว่าตั้งใจทำ มีรายละเอียดมาก อย่างบทวิทยุตอนเกี่ยวกับเรื่องประวัติเมือง มีเกริ่นตำนาน ที่มาชื่อเมือง นานสมชื่อจริงๆ ^_^ แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพียงความคิดเฉพาะตัว (ผู้เขียนเอง) เพราะหลังจากจบตอน "คุยกันวันละประเด็น" ก็กลับอยากให้ตอน "เรียนภาษาจีนกับ CRI" ยืดยาว ช้าออกไป (ทั้งนี้อาจเพราะต้องตั้งใจจดจำ ผนวกกับมักมีของรางวัลแถมพก) ^_^

จีนมีความก้าวหน้ากว่าไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านเกษตรกรรม ซึ่งถ้า CRI จะนำมาเสนอเป็นชุดบทวิเคราะห์เชิงลึก จะเป็นบทเรียนเพื่อผู้ฟังชาวไทยได้รับประโยชน์ อาทิ ข่าวจีนจะปฏิรูปการบริหารระบบอุดมศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้นนั้น ก็ใคร่รู้ว่าในทางปฎิบัติจะทำอย่างไรบ้าง

ชาวไทยชื่นชมในความก้าวหน้าของการพัฒนาจีน และในไมตรีสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ แต่ก็อดห่วงมิได้เพราะยุคสมัยปัจจุบันมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี ตลอดจนสังคม และจิตใจผู้คน ซึ่งจะส่งผลที่ยากต่อการคาดเดา ควบคุมได้

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่รับสั่งถึงรายการภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุซีอาร์ไอว่าจะเป็น "สะพานบนฟ้าที่เพิ่มพูนความเข้าใจกันและกระชับไมตรีจิตมิตรภาพ" ซึ่งไม่เพียงแต่สานสัมพันธ์ระหว่างชาติจีนกับชาติไทยอย่างยั่งยืน ผู้เขียนยังหวังว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นแบบอย่างระหว่างเพื่อนมนุษย์ร่วมนิเวศน์หมู่บ้านโลกแห่งนี้ด้วย

ผู้เขียน : Kasem Kow

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040