เมืองอี้อู—ตลาดขายส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดของโลก
  2011-03-15 17:07:25  cri

อี้อู เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในทางการผลิตและขายส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด สินค้าเบ็ดเตล็ด ของเมืองนี้มีความหลากหลายมาก และมีราคาถูก จึงได้ดึงดูดนักธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาทำการค้าขายกันที่นี่ สินค้าจากเมืองนี้ได้ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกวันละกว่า 1,000 คอนเทนเนอร์ ยอดการซื้อขายของตลาดอี้อูถูกจัดอยู่อันดับต้นๆของจีนต่อเนื่องกันนานถึง 14 ปี ปัจจุบันนี้ ตลาดแห่งนี้ยังเป็นศูนย์หมุนเวียนสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก และเป็นฐาน

การส่งออกสินค้าที่สำคัญของจีนด้วย

อี้อูได้ชื่อว่าเป็นตลาดขายส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดนานานาชาติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลกและมอร์แกนแสตนลีย์ มีพื้นที่ในศูนย์ขายส่งสินค้ารวมกว่า 4 ล้านตารางเมตร มีร้านค้าส่งมากกว่า 62,000 ร้าน ภายในตลาดมีสินค้ามากมายกว่า 1.7 ล้านชนิด จนได้ชื่อว่าเป็น "ซุเปอร์มาเก็ตของโลก"

อี้อูเป็นเมืองเล็ก ตั้งอยู่ตอนกลางของมณฑลเจ้อเจียง ใกล้ชายฝั่งตะวันออกของจีน มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน พื้นที่ทั้งหมด 1,105 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากนครเซี่ยงไฮ้ 300 ก.ม. และห่างจากเมืองหางโจวประมาณ 120 ก.ม

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว อี้อู ยังเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ชาวท้องถิ่นมีชีวิตที่ไม่ร่ำรวย แต่สิ่งที่แตกต่างจากที่อื่นคือ ชาวอี้อูมีประเพณีค้าขายตั้งแต่โบราณกาล เวลาไม่ต้องทำไร่ไถนา ชาวอี้อูมักจะหาบเข่งที่ใส่ลูกอมเร่ขายตามตรอกเล็กซอยน้อย ใช้ลูกอมแลกขนไก่หรือหลอดยาสีฟันกับชาวบ้าน จากนั้น ก็นำขนไก่ที่ได้ไปทำเป็นไม้ขนไก่ขาย ส่วนหลอดยาสีฟัน นำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า

หลังจีนเปิดประเทศในทศวรรษปี 1980 เมืองชายฝั่งทะเลในมณฑลต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกของจีน ซึ่งรวมมณฑลเจ้อเจียงด้วยพากันเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ตอนนั้น เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองอี้อูคือ พัฒนาเมืองอี้อูให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าที่สำคัญของโลก โดยส่งเสริมให้มีสินค้าจากทุกมุมโลกเข้ามาขายในตลาดเมืองอี้อู เพื่อให้นักธุรกิจจีนและต่างประเทศสามารถสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการจากอี้อู แล้วนำไปจำหน่ายต่อ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้ลงทุนก่อสร้างตลาดค้าส่งขนาดใหญ่สำหรับสินค้าประเภทต่าง ๆ หลายตลาด พัฒนาระบบขนส่ง การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์

ปัจจุบัน ภายในเมืองอี้อูมีตลาดขนาดใหญ่ 6 แห่ง อันได้แก่ ตลาดหวงหยวน ตลาดปินหวาง และตลาดการค้าระหว่างประเทศอีก 4 แห่ง

ตลาดหวงหยวน เปิดบริการปี 1992 ประกอบด้วยร้านค้าจำนวน 16,000 ร้าน บนพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร ค้าขายสินค้าต่างๆ กว่า 100,000 ชนิด อันประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกา เข็ม ด้าย เครื่องเขียน และสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋า และชุดกันฝน เป็นต้น

ตลาดปินหวาง เปิดบริการเมื่อปี 1992 เช่นกัน ครอบคลุมพื้นที่ 320,000 ตารางเมตร ภายในดมีร้านค้ากว่า 9,000 ร้าน โดยแบ่งเป็น5 โซนตามประเภทสินค้า ตลาดแห่งนี้จะเน้นสินค้าประเภทสิ่งทอ เช่น เนคไท ชุดชั้นใน ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอน เครื่องครัว และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ส่วนตลาดการค้าระหว่างประเทศแห่งแรกสร้างขึ้นในเดือนตุลาคม 2001 พื้นที่ 340,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 700 ล้านหยวน มีร้านค้า 9,000 ร้าน ชั้น 1 จำหน่ายสินค้าประเภทดอกไม้และของเล่น ชั้น 2 จำหน่ายสินค้าเครื่องประดับ งานศิลปะและหัตถกรรม ชั้น 3 และชั้น 4 เป็นศูนย์ข้อมูลการค้าสำหรับบริษัทต่างประเทศ

ตลาดการค้าระหว่างประเทศแห่งที่ 2 เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี2004 ภายในอาคารมีพื้นที่ 600,000 ตารางเมตร มีร้านค้า 8,000 ร้าน ชั้น 1 จำหน่ายสินค้าประเภท กระเป๋า ร่มและเสื้อกันฝน ชั้น 2 จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับยนต์ ชั้น 3 จำหน่ายสินค้า เครื่องครัว สุขภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นาฬิกา ชั้น 4 และชั้น 5 เป็นศูนย์บริการการค้าต่างประเทศ ภายในตลาดแห่งนี้ มีสำนักอุตสาหกรรมและพาณิชย์ สำนักงานภาษีอากร สถานีตำรวจ ธนาคาร ร้านอาหาร ไปรษณีย์ และโทรคมนาคมตลาดการค้าระหว่างประเทศแห่งที่ 3 มีพื้นที่ภายในอาคาร 460,000 ตารางเมตร มีร้านค้า 7,000 ร้าน จำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม, กีฬา, เครื่องสำอาง, เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ตลาดการค้าระหว่างประเทศแห่งที่ 4 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 พื้นที่ภายในอาคารมี 108,000 ตารางเมตร มีร้านค้ากว่า 16,000ร้านจำหน่ายสินค้าประเภทรองเท้า เข็มขัด ชุดชั้นใน ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย มีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบโทรทัศน์ LCD พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

เมืองอี้อูยังมีตลาดสินค้าเกษตรด้วย เป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกของจีน ตลาดแห่งนี้มีพื้นที่ 4.66 แสนตารางเมตร ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านหยวน ภายในประกอบด้วย ตลาดขนาดใหญ่ 6 ตลาดคือ ตลาดสินค้าอาหารสำเร็จรูป ตลาดผลไม้ ตลาดธัญญพืชและน้ำมันบริโภค ตลาดผัก ตลาดไม้ดอกไม้ประดับ และตลาดเนื้อสัตว์

เมืองอี้อูเปิดการค้ากับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ที่อี้อูกว่า 10,000 คน เมื่อปีที่แล้ว บริษัทประกันชีวิตจีนร่วมกับกลุ่มบริษัทตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดเมืองอี้อู และสำนักงานตรวจคนเข้า-ออกเมืองอี้อูออกนโยบายดึงดูดพ่อค้า นักธุรกิจชาวต่างชาติให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำการค้าในเมืองอี้อู โดยทำประกันอุบัติเหตุให้พ่อค้าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองอี้อูฟรี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ปี2010 เป็นต้นไป ซึ่งนักธุรกิจต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองอี้อูอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้ประกันอุบัติเหตุวงเงิน 200,000 หยวน และประกันค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากอุบัติเหตุในวงเงิน 20,000 หยวน โดยกลุ่มบริษัทตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดเมืองอี้อูจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว สิทธิประโยชน์ดังกล่าวยังครอบคลุมถึงพ่อค้าชาวฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า และชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักอยู่ในเมืองอี้อูด้วย

อี้อูยังเป็นตลาดค้าส่งลำไยของไทยที่ใหญ่ที่สุดในจีน แต่ละปีอี้อูนำเข้าลำไยจากไทย 40,000 ตัน ภายในตลาดค้าส่งผลไม้ของเมืองอี้อู และเมืองใกล้เคียงมีร้านค้าส่งผลไม้ไทยขนาดใหญ่ จำนวน 3 ร้าน มีผลไม้ไทยวางจำหน่ายอยู่หลากหลายชนิด ได้แก่ ทุเรียน ส้มเขียวหวาน เงาะ มังคุด ส้มโอ ลำไย ฯลฯ โดยผู้ประกอบการร้านค้าผลไม้รายใหญ่ที่สุดในตลาดดังกล่าวนำเข้าผลไม้ไทยปีละประมาณ 60-70 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นเงินปีละ 12-14 ล้านหยวน

เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเปิดเผยว่า ไทยมีแผนจะใช้เมืองอี้อูเป็นประตูการค้า ขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร มายังจีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะลำไยอบแห้ง เนื่องจากอี้อูถือเป็นตลาดค้าส่งลำไยอบแห้งขนาดใหญ่ที่สุดของจีน

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้เจรจากับผู้บริหารตลาดและผู้ค้าส่งลำไยอบแห้งในตลาดอี้อู ขอให้ซื้อลำไยอบแห้งจาหไทยให้มากขึ้น

อี้อูยังมีการจัดงานแสดงสินค้าระดับสากลทุกปี เพื่อป่าวประกาศให้ผู้นำเข้าทั่วโลกรู้ว่า อี้อูขายอะไร และสิ่งที่ขายเป็นสินค้าคุณภาพดี สินค้าที่นำมาแสดงในงานต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้จัดงานก่อน งานแสดงสินค้าอี้อู จึงเป็นงานที่ทำให้สินค้ายี่ห้อจีนเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในโลก ในช่วงการจัดงานแสดงสินค้า เมื่อปีที่แล้ว ฝ่ายจัดงานเปิดเผยว่า มูลค่าการซื้อขายมีถึง 2,807 ล้านหยวน โดยในจำนวนนี้ ส่วนที่เป็นการค้าระหว่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด หรือเท่ากับ 1,690 ล้านหยวน มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้า 998 ราย จาก 25 มณฑลทั่วประเทศจีน และ 16 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย มีผู้เข้าชมงานทั้งหมดประมาณ 84,000 คน โดยเป็นพ่อค้านักธุรกิจชาวต่างชาติจำนวน 5,641 คน จาก 118 ประเทศทั่วโลก อาทิ เยเมน อินเดีย เกาหลีใต้ ปากีสถาน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อมวลชนทั้งจีนและไทยรายงานว่า

จีนไทยจะร่วมมือลงทุนสร้างศูนย์การค้าฝาแฝด "กรุงเทพ - อี้อู " ในประเทศไทยบนถนนบางนา-ตราดซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการร่วมทุน ด้านการค้าที่มีขนาดใหญ่สุดระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน

โดยศูนย์การค้าแห่งนี้จะมีพื้นที่ 7 แสน ตร.ม. หรือเท่ากับสนามฟุตบอล 100 สนาม มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 3 พันล้านหยวน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากกลุ่มบริษัท อาซือมา ส่วนภาคธุรกิจของไทยมีการร่วมทุนด้วย คาดว่า โครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2013 ภายใต้เงื่อนไขวางจำหน่ายสินค้าไทยไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งร้านค้าภายในศูนย์จะมีประมาณ 1 หมื่นร้าน ศูนย์การค้าแห่งนี้จะมีลักษณะคล้ายกับศูนย์ค้าส่งสินค้าในเมืองอี้อู แนวทางการบริหารจัดการใช้ อี้อู โมเดล เป็นหลัก

สินค้าที่กำหนดวางจำหน่ายในศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้มี 6 ประเภท ได้แก่ แฟชั่น ดีไซน์ อัญมณีเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่ยนต์และประดับยนต์ อาหาร เป็นต้น เน้นการขายส่ง และทำโปรโมชั่น อย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่จีนเข้าไปร่วมลงทุนครั้งนี้ คงไม่มองเรื่องการกระจายสินค้าเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน เพื่อใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะตลาดจะขยายจาก 60 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน และอาจมองไกลไปถึงการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอาเซียนบวก 3 คือ อาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งการที่จีนเข้าไปลงทุนดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะนักธุรกิจไทยมีเป้าหมายจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์ยังมองว่า การที่จีนเข้าไปลงทุนตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย จะทำให้บทบาทการเป็นศูนย์กลางของไทยชัดเจนขึ้น โดยไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการกระจายสินค้าจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน จะมีศักยภาพมากทั้งเส้นทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งการลงทุนในไทย จะสามารถต่อยอดทางธุรกิจด้านอื่นๆ ได้อีกมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ไทยออกไปลงทุนในจีนมากกว่าที่จีนเข้าไปลงทุนในไทย เช่น กลุ่มบริษัทซีพี กลุ่มมิตรผล ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้จีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040