จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกมา 10 ปีแล้ว ช่วงเวลานี้ การดำเนินนโยบายเปิดประเทศของจีนขยายวงกว้างและลงลึกขึ้นเรื่อยๆ ประสบผลสำเร็จเป็นที่จับตามองทั่วโลก
จากข้อมูลล่าสุดขององค์การการค้าโลก จนถึงปี 2552 การค้าต่างประเทศของจีนมีสัดส่วนเป็น 9% ของโลก มากที่สุดในโลก ช่วงที่จีนเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2544 การค้าจีนมีสัดส่วนแค่เพียง 4.3% ของการค้าทั่วโลกเท่านั้น ซึ่งอยู่อันดับที่ 6
ช่วงปี 2544-2553 ยอดการค้าจีนเพิ่มขึ้นปีละ 21.64% ถึงปี 2553 การส่งออกของจีนมีสัดส่วนเป็น 10.35% ของโลก ส่วนการนำเข้ามีสัดส่วนเป็น 9.07% ของโลก อุตสาหกรรมการผลิตเติบโตขึ้น 5 เท่า บริษัทจีนที่เข้าข่าย 500 บริษัทยักษ์ใหญ่โลกเพิ่มจาก 12 บริษัทในปี 2544 มาเป็น 54 รายในปี 2553
เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวในการสัมมนาประเด็นการเปิดประเทศของจีนครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นที่เมืองหนิงโปว่า การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกนั้น ทำให้จีนสามารถเข้าร่วมกระบวนการเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ตามมาตรฐานระบบเศรษฐกิจการตลาดสากล มีเวทีปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า และมีหลักประกันในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ
แม้ประสบความสำเร็จมาก จีนก็มีปัญหาการค้าที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนหลายประการ ช่วงจัดการสัมมนานโยบายเปิดประเทศของจีนครั้งที่ 4 ที่เมืองหนิงโป เจ้าหน้าที่และนักวิชาการหลายคนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จีนต้องเร่งปรับรูปแบบการส่งออกที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก ก่อปัญหามลภาวะอย่างรุนแรง และมีประสิทธิผลต่ำ
นายเหยา จิ่นหยวน หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแสดงความเห็นว่า สินค้าส่งออกของจีนส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก เน้นใช้แรงงานมาก แต่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ทำให้การส่งออกต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรในระดับสูงมาก แต่มีประสิทธิภาพต่ำในการใช้ทรัพยากร และยังทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างที่ติดตามมา เช่น ปัญหามลภาวะ สิ้นเปลืองทรัพยากร และแรงกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจแผ่วลงเป็นต้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประชาชาติให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้านโครงสร้างสินค้าส่งออก หลังเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จีนเน้นส่งออกสินค้าแปรรูป ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่ำมาก เขากล่าวว่า
ในส่วนการส่งออกสินค้าแปรรูปนิวไฮเทค สินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่เน้นใช้แรงงานมาก ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่ำ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายในประเทศน้อยมาก
นายเหยา จิ่นหยวนยังกล่าวว่า เมื่อจีนส่งออกสินค้าประเภทไหน ราคาสินค้าประเภทนั้นในตลาดโลกมักจะลดลงอย่างฮวบฮาบ ในทางกลับกัน เมื่อจีนนำเข้าสินค้าประเภทไหน ราคาสินค้าประเภทนั้นในตลาดโลกมักจะพุ่งสูงขึ้นทันที สาเหตุสำคัญคือ นับวันจีนต้องพึ่งพาทรัพยากร และพลังงานจากตลาดโลกสูงขึ้น จึงทำให้ราคาสินค้าที่จีนนำเข้าพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาวะการค้าต่างประเทศของจีนแย่ลงเรื่อยๆ
การเกินดุลการค้ามากเกินไปยังทำให้มีแรงกดดันให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น หลังจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเป็นเวลา 10 ปี การนำเข้าของจีนเติบโต 473 % การส่งออกยิ่งเติบโตมาก คือสูงถึง 492 % เนื่องจากการเกินดุลการค้าของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เงินสำรองต่างประเทศของจีนจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้แรงกดดันให้เงินหยวนแข็งค่าทวีความรุนแรงขึ้น
การเน้นส่งออกสินค้าแปรรูปนั้นทำให้จีนเกินดุลการค้าจำนวนมหาศาล ในปี 2543 มูลค่าการส่งออกของจีนมี 249,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงปี 2551 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 1,428,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 473.2% ในช่วงเวลานี้ จีนเกินดุลการค้ามาตลอด เมื่อปี 2543 จีนเกินดุลการค้า 24,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 2551 จีนเกินดุลการค้า 295,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 271,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2543 เท่ากับเพิ่มขึ้น 12 เท่าในช่วง 8 ปี ถึงแม้ในช่วงที่วิกฤตการเงินโลกรุนแรงที่สุดคือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนปี2551- เดือนมิถุนายนปี 2552 จีนยังคงเกินดุลการค้าเช่นกัน
สาเหตุใดที่ทำให้จีนเกินดุลการค้ามาตลอดเป็นเวลานาน นายหลี่ เค่อ ศาสตราจารย์สถาบันพาณิชย์ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมของจีนเน้นการแปรรูปสินค้า ทำให้จีนเกินดุลการค้ามหาศาล นอกจากนี้ จีนดำเนินยุทธศาสตร์ พัฒนาประเทศให้เป็นโรงงานผลิตสินค้าของโลกนั่นก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนเกินดุลการค้ามหาศาลเป็นเวลานาน
อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนเกินดุลการค้ามหาศาลเป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าจีนกำลังปรับและปฏิรูปกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน แต่นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า กระบวนการนี้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก
นายเว่ย เจี้ยนกว๋อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เลขาธิการศูนย์แลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนกล่าวว่า สองปีที่ผ่านมานี้ การเกินดุลการค้าของจีนลดลงบ้างแล้ว ในไตรมาสแรกปี 2554 จีนไม่เพียงแต่ไม่ได้เกินดุลการค้า ยังขาดดุลการค้าด้วยซ้ำ จากการนำเข้าและส่งออกช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมานี้ จะสามารถเห็นแนวโน้มการค้าของจีนในรอบปีนี้ คือ การเกินดุลการค้าจะลดลงเรื่อยๆ
นายเว่ย เจี้ยนกว๋อ คาดว่า การเกินดุลการค้าในรอบปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 100,000 ล้าน หรือ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2552 เขากล่าวว่า ปัจจุบัน การขาดดุลการค้าเป็นเรื่องดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในขณะนี้
นายซัน ไป่ชวน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศจีนเห็นว่า จีนเริ่มเข้าสู่ยุคต้นทุนสูงในการนำเข้าส่งออก ก่อนอื่น หลังจากจีนดำเนินการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นต้นมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ การแข็งค่าของเงินหยวนทำให้ราคาทรัพย์สินพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการส่งออกจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทำให้กำไรลดลง
ในทางทฤษฎี การแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าลดลง แต่เนื่องจากความต้องการในการนำเข้าสินค้าของจีนขยายตัว และสินค้าหลายประเภทต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศในระดับสูงมาก บริษัทต่างชาติที่ผูกขาดสินค้าเหล่านั้นจึงถือโอกาสปรับราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าที่จีนนำเข้าไม่เพียงแต่ไม่ได้ลดลง แต่กลับพุ่งสูงขึ้น
ในยุคต้นทุนการนำเข้าและส่งออกสูง จีนต้องเผชิญกับแรงกดดันจากราคาทรัพยากรที่พุ่งสูงขึ้น และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นายซัน ไป่ชวน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศจีนกล่าวว่า ในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตของโลก จีนต้องการพลังงาน วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์สินแร่ และทรัพยากรน้ำมากขึ้นทุกวัน ทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภททรัพยากรแทบทุกชนิดมีราคาพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นปลาย ทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ วิสาหกิจยังต้องลงทุนมากขึ้นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งในยุคต้นทุนสูง ปัจจุบัน จีนกำลังปฏิรูประบบการกระจายรายได้ โดยจะเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท และเป็นแรงงานหลักของอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน เมื่อรัฐบาลต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่คนกลุ่มนี้ วิสาหกิจจึงต้องจ่ายค่าจ้างมากขึ้น มิฉะนั้น คงยากจะที่หาแรงงานมาทำงานได้
ปัจจุบัน จีนได้พัฒนาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก การปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศ จึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ดังนั้น ทั่วโลกจึงติดตามการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิดมาตลอด
เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของจีนต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ด้านนโยบายอุตสาหกรรม รัฐบาลไม่ควรอุดหนุนผลิตภัณฑ์เฉพาะอย่าง หากต้องสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดค้นด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน รัฐบาลและวงการวิสาหกิจจีนต้องพยายามมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ และมาตรฐานสินค้าในตลาดโลก เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่ดีให้กับจีน นอกจากนี้ จีนต้องส่งเสริมความสะดวกในการนำเข้า ขยายขนาดการนำเข้า เพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสินค้าประเภททรัพยากรและนิวไฮเทค ขณะเดียวกัน ต้องบุกเบิกตลาดของประเทศเศรษฐกิจใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาด
นักวิชาการจำนวนหนึ่งยังเสนอให้จีนเร่งย้ายอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานจากริมฝั่งทะเลภาคตะวันออกไปยังภาคตะวันตกซึ่งเป็นดินแดนชั้นในของจีน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกให้สูงขึ้น และขับเคลื่อนกระบวนการความเป็นอุตสาหกรรมในภาคตะวันตกให้เร็วขึ้น