บทให้สัมภาษณ์ของที่ปรึกษาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (3)
  2011-09-27 14:55:22  cri

ผู้สื่อข่าว สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง ยินดีต้อนรับเข้าสู่ช่วงคุยกันวันละประเด็น รายการของเราวันนี้ได้รับเกียรติจากดร.ละเอียด ศิลาน้อย ที่ปรึกษา (ระดับ 9) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกครั้ง ที่กรุณาแวะมาพูดคุยเรื่องการท่องเที่ยวจีน-ไทย

ผู้สื่อข่าว- สวัสดีค่ะ ท่านที่ปรึกษา

ดร.ละเอียด- สวัสดีครับคุณจันทร์ฉาย สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ

ผู้สื่อข่าว- ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาการท่องเที่ยวมานาน เคยได้รางวัลระดับโลกหลายรางวัล และเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของคนจีนจำนวนมาก ท่านมีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของจีนอย่างไรบ้าง

ดร.ละเอียด-ต้องยอมรับว่า จีนใจถึง เมื่ออยากพัฒนาการท่องเที่ยว ก็ลงมือขีดเส้นเลย การลงทุนบางอย่างไม่คิดผลตอบแทนเลย การลงทุนสร้างสถานที่แสดงศิลปวัฒนธรรมในแหล่งท่องเที่ยวยิ่งใหญ่อลังการ ทำจริงทำจัง ถือว่าใจถึงมาก และการคิดถึงความยั่งยืนของทรัพยากรการท่องเที่ยว ไม่ว่าเรื่องต้นไม้ เรื่องสิ่งก่อสร้างและเรื่องวัฒนธรรมให้ยั่งยืนถึงลูกหลาน ตรงนี้เป็นจุดเด่นของจีน ส่วนที่จีนต้องแก้ไขคือ การทำตลาดให้กว้างและให้มีหลายระดับ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาจีนมีหลายระดับ นักท่องเที่ยวธรรมดาที่เดินทางมาเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลินหรือมาหาความรู้ทางปรัชญา มาศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ดังนั้น เราจะต้องรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวให้อยู่ในระดับสูงสุดเหมือนเดิม หากนี่ไม่ได้นั่นไม่ได้ นักท่องเที่ยวจะเบื่อ

นอกจากนี้ ข้อสำคัญคือ ประชาชนทั่วไปต้องรักการท่องเที่ยว สินค้าที่ระลึกต้องดีไซน์ให้ดี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชอบซื้อของ ยิ่งประเทศแถบเอเชีย อย่างคนไทยมา ซื้อตลอด พอซื้อไป สิ่งที่ได้ไปกลายเป็นสิ่งที่ประกาศว่า เคยมาและเป็นการโฆษณาเมืองจีนให้เราด้วย และคนที่ผลิตสินค้าก็มีรายได้เพิ่มขึ้น และต้องกระจายให้ทั่วถึง ถ้าบางกลุ่มคนไม่ได้ ก็จะไม่ช่วยดูแลการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวมีผลกระทบทางบวกต่อทุกๆคนไม่มากก็น้อย ยิ่งในชุมชนท้องถิ่น ยิ่งต้องให้พวกเขาได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่มา เขาจะบ่น ทำไมนักท่องเที่ยวไม่มา นักท่องเที่ยวมาแล้ว พวกเขาจะสบายใจ ดีใจ มีความสุข และสนุกสนานกับการต้อนรับ นอกจากได้พบเพื่อนใหม่ ได้คุยเรื่องแปลกๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้พวกเขามีชีวิตที่มีความสุข ดังนั้น การท่องเที่ยวต้องคิดถึงคน เรื่องการบริการต้อนรับ เรื่องความรู้ต่างๆ ไทย-จีนเราสามารถถ่ายทอดกันได้ แต่เรื่องการพัฒนาเทคนิคหรือวิชาการเรียนรู้ได้เหมือนๆกัน แต่ประสบการณ์ที่ได้มาจากการเติบโตของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างมีจุดเด่นจุดด้อยไม่เหมือนกัน

การท่องเที่ยวเป็นการบริการ การบริการในร้านอาหารเพื่อคนพื้นเมืองกับร้านอาหารเพื่อนักท่องเที่ยวคนละแบบกัน โรงแรมของคนพื้นเมืองกับโรงแรมสำหรับคนขายของพัก หรือโรงแรมที่นักท่องเที่ยวคนจีนมาพักกับโรงแรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาพักก็คนละแบบกัน ถ้าเราเข้าใจลักษณะของแต่ละกลุ่มคน ก็จะพัฒนาให้ต่างกัน แม้ว่ามาพักเหมือนกัน แต่มีบางอย่างไม่เหมือน บางทีไม่ได้ขึ้นกับตัวสิ่งก่อสร้าง หรือการตกแต่งภายใน ขึ้นกับความคิดและเทคนิคที่เรียนรู้จากประสบการณ์การพัฒนาท่องเที่ยว ซึ่งต้องเติบโตเรื่อยๆ

อย่างเรื่องการอบรมมัคคุเทศก์มองเห็นได้ชัดเลย ผมดูแลเรื่องการอบรมมัคคุเทศก์ไทย ในด้านความคล่องตัว ความพลิ้วตัว และการบริการต้อนรับที่หลากหลาย นิ่มนวล ประทับใจและเรื่องความรู้ มัคคุเทศก์จีนสู้ไทยไม่ได้ จีนเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ ของไทยก็เหมือนกัน มัคคุเทศก์ต้องรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของไทยเราต่อเนื่องกันตลอด ของจีนมัคคุเทศก์รุ่นใหม่ขาดความรู้เก่าๆ บางทีเรื่องที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้เรื่องนี้ ขณะที่มัคคุเทศก์กลับไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องของจีนแต่โบราณกาล เพราะขาดความรู้รุ่นเก่าๆ จุดนี้เป็นที่พัฒนาให้ต่อเนื่องกันได้ ใช้ประสบการณ์ของไทยได้ การอบรมของเราคือ จำเป็นต้องพูดอย่างนี้ เพราะจีนมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นโบราณสถานและมีประวัติศาสตร์ยาวนานและแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมมากมาย ความรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร อุทยานธรณีวิทยา ด้านดิน หินปูน ไม่เป็นเรื่องยาก เรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรมต้องลึกซึ้ง ต้องจัดแจ้ง องค์ความรู้ต้องหามาและต้องเสริมให้เต็ม

ปัจจุบัน คนไทยหลายคนสนใจเรื่องสามก๊ก มัคคุเทศก์รุ่นใหม่ของจีนไม่ค่อยรู้เรื่องสามก๊ก ขณะที่คนมาจากต่างประเทศรู้มากกว่า คนไทยอ่านสามก๊กมา เมื่อพูดถึงเรื่องโจโฉ เล่าปี่ มัคคุเทศก์รุ่นใหม่ของจีนกลับไม่ค่อยรู้ ทำให้ประทับใจไม่ได้ พาไปเที่ยวหลุมฝังศพเล่าปี่ ก็เล่าอะไรให้ประทับใจไม่ได้ เพราะตัวเองไม่ได้เข้าไปในเรื่องนั้น และหลายเรื่องของจีนที่ดังโดยไม่ต้องโฆษณา เช่น กำแพงเมืองจีนดังมาก ผมอ่านข้อมูลมารู้ว่า กำแพงเมืองจีนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1ใน 7 ของโลก แต่เวลาไปเที่ยวกำแพงเมืองจีน มัคคุเทศก์พูดเรื่องกำแพงเมืองจีนน้อยมาก หากมัคคุเทศก์พูดให้กำแพงเมืองจีนมีชีวิต และบอกความสำคัญ ประวัติความเป็นมาของกำแพงเมืองจีนให้เราฟัง มัคคุเทศก์ต้องมีความสามารถในการเล่าและรู้จักเทคนิคเล่า รู้จักสร้างจินตนาการ ไม่ใช่เล่าเป็นสารคดี แต่เล่าความเป็นมา กำแพงเมืองจีนใช้ชีวิตคนไปเท่าไร กั้นข้าศึกได้เท่าไร ความยาวล้อมประเทศไทยได้นะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวซาบซึ้งใจ และอยากไปอีก ด้านนี้ มัคคุเทศก์ไทยเก่ง เมื่อพานักท่องเที่ยวเดินในวัง เหมือนวังมีชีวิต ไม่ใช่ดูแต่โบราณสถาน ประตูเก่าๆ กำแพงเก่าๆ หลังคาเก่าๆ สิ่งเก่าๆ แล้วกลับบ้าน ต้องสร้างวิธีการและเทคนิคการนำเสนอ ไม่ใช่เล่าเชิงรายละเอียดประวัติศาสตร์ แต่เก็บเกล็ดความรู้ประวัติศาสตร์มาพูด

อย่างของไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวซ้ำกว่าครึ่งหนึ่ง พระราชวังเที่ยว 5 ครั้ง ก็ยังไม่เบื่อ เพราะแต่ละครั้งพบมัคคุเทศก์คนละแบบ เรื่องเดียวกัน แต่เทคนิคการเล่าของมัคคุเทศก์แต่ละคนพูดในมุมมองต่างกัน เทคนิคคนละแบบ นักท่องเที่ยวจะสนุกสนานกับเทคนิคที่ต่างกัน ด้านนี้ ไทยจีนสามารถแลกเปลี่ยนกันได้

ผู้สื่อข่าว– ขอขอบคุณมากค่ะที่กรุณาพูดถึงข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของจีน หวังว่า ท่านผู้ฟังคงจะได้รับทั้งสาระและความเพลิดเพลินไปกับดร.ละเอียด ศิลาน้อยนะคะ โอกาสหน้าวันที่ 10 ตุลาคม ดร.ละเอียด ศิลาน้อยจะกรุณาแวะมาพูดในประเด็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวระหว่างจีนไทยต่อคะ มาติดตามฟังอีกครั้งนะคะ ขอบคุณทุกท่านค่ะ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040