ปีนี้เป็นปีที่ 10 ที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหวาได้สัมภาษณ์นักวิชาการและนักธุรกิจจำนวนหนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เห็นว่า การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 นั้นได้เปิดโอกาสให้จีนสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น และก้าวสู่หนทางแห่งการพัฒนา ความเจริญจากการบูรณการภาคเศรษฐกิจของจีนกับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จีนได้เร่งกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศให้เร็วยิ่งขึ้น และมีบทบาท ในระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรือยๆ
ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา ยอดมูลค่าการค้าต่างประเทศของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 30,387,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 12,653,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2001 ซึ่งเติบโต 140% ด้านการนำเข้าส่งออกสินค้าได้เพิ่มจาก 509,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2001 มาเป็น 3,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 เพิ่มขึ้น 4.8 เท่า ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และประเทศที่นำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับสองของโลก ด้านมูลค่าการค้าบริการได้เพิ่มขึ้นจาก 71,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2001 มาเป็น 362,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 เติบโต 4 เท่า ส่วนยอดมวลรวมการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 40,000,000 ล้านหยวนในปี 2010 จาก 11,000,000 ล้านหยวนเมื่อปี 2001 ซึ่งเฉลี่ยเติบโต 10% ต่อปี เมื่อปี 2010 ยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจจีนทะยานขึ้นมาอยู่อันดับสองของโลก คิดเป็น 9% ของยอดมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดของโลก จีดีพีเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 จาก 800 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2000
จีนในฐานะเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้สนับสนุนการพัฒนาการค้าโลกอย่างมาก ขณะที่จีนเองก็มีความเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้น และได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาการค้าโลกที่เติบโตขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ชาวจีนเริ่มเปลี่ยนแนวความคิด ทัศนะคติ และมีสายตาที่กว้างไกลยิ่งขึ้น จีนยังได้ส่งเสริมการปฏิรูปกลไก และนวัฒกรรมระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ได้เพิ่มศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้แก่จีน
คุณอิน:
เมื่อปลายปี 2010 กองทุนการเงินระหว่างประเทศวิเคราะห์เศรษฐกิจของจีนว่า การค้าและด้านเงินทุนหมุนเวียนระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอื่นในหลายทาง ช่วง 10 ปีมานี้ จีนนำเข้าสินค้าเฉลี่ยปีละ 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับได้สร้างตำแหน่งงาน 14,000,000 ตำแหน่งให้กับประเทศคู่ค้าของจีน ส่วนบริษัทที่ลงทุนในจีนได้ส่งเงินที่เป็นผลกำไรออกจากจีนรวม 261,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ต่อปี ด้านบริษัทจีนที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้ว่าจ้างพนักงานในประเทศที่ไปลงทุนปีละประมาณ 800,000 คน จ่ายภาษีให้กับประเทศที่ไปลงทุนปีละกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าจีนที่มีราคาถูก คุณภาพดีได้สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้แก่ผู้บริโภคต่างชาติด้วย
นางชารลีน บารเชฟสกี้ อดีตผู้แทนการค้าสหรัฐฯที่เคยร่วมพิจารณาให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกกล่าวว่า หลังจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จีนมีผลคืบหน้าแบบก้าวกระโดดในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ ความเป็นอุตสาหกรรม ความทันสมัย และการเพิ่มบทบาทในเศรษฐกิจโลก การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนยังเป็นการส่งเสริมการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน ช่วยให้จีนทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และทำให้องค์การการค้าโลกมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น ยังได้เร่งกระบวนการความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจของโลกด้วย เศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นกล่าวว่า ก่อนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ภายในประเทศจีนมีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้าน ผู้สนับสนุนเห็นว่า การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกจะนำมาซึ่งโอกาสทางการค้ามหาศาลสู่จีน แต่ผู้คัดค้านกลับเห็นว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจสาขาต่างๆ ของจีน ซึ่งตอนนั้น ดูเหมือนว่า มีจำนวนผู้คัดค้านมากกว่าผู้ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จจากการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในช่วง 10 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจและธุรกิจสาขาต่างๆ ของจีนไม่ได้รับผลกระทบทางลบมากนักจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเลย
นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นยังกล่าวว่า การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกนั้นได้นำประโยชน์ 3 ประการให้กับจีน ประการแรก การค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกของจีนเติบโตขึ้นต่อไป ผลิตภัณฑ์ของจีนมีกำลังแข่งขันมากขึ้นในตลาดโลก ประการที่ 2 ภายหลังจีนเปิดตลาดภายในประเทศ ชาวจีนมีโอกาสใช้สินค้าและบริการจากต่างประเทศ และประการสุดท้าย เป็นการส่งเสริมการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจการตลาด
ช่วง 10 ปีมานี้ วิสาหกิจ และเศรษฐกิจการตลาดของจีนได้เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีภาวะการเมือง นโยบาย และระบบกฎหมายที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน จีนยังต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการค้าจากการเน้นเฉพาะปริมาณการค้า มาเป็นการเน้นทั้งปริมาณและคุณภาพของการค้า
ภายหลังเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จีนได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ โดยได้ลดอัตราภาษีศุลกากรอย่างมีขั้นตอน ยกเลิกมาตรการปกป้องทางการค้าต่างๆ เช่น โคว์ต้าการนำเข้าสินค้า ใบอนุญาตนำเข้าสินค้า นอกจากนี้ ยังเปิดเสรีด้านการประกอบธุรกิจการค้าต่างประเทศ และลดเงื่อนไขในการอนุญาตการนำเข้าทุนต่างชาติอย่างมาก ด้านอัตราภาษีศุลกากร โดยทั่วไปแล้ว ได้ลดลงจาก15.3% มาอยู่ที่ 9.8% ซึ่งต่ำกว่าระดับของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่อย่างมาก จีนยังเปิดการค้าบริการ 100 สาขา ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศพัฒนา
จีนยังพยายามให้นโยบายเปิดประเทศมีความมั่นคง โปร่งใสมากขึ้น และคาดการณ์ได้ ช่วง10 ปีมานี้ รัฐบาลกลางจีนได้สะสางกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎข้อบังคับกว่า 2,300 ฉบับ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นระดับต่างๆ ได้สะสางนโยบาย และกฎข้อบังคับระดับกว่า 190,000 ฉบับ ทั้งนี้ทำให้กฎหมาย และกฎข้อยังคับที่เกี่ยวพันกับการค้าต่างประเทศของจีนสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่จีนให้ไว้กับองค์การการค้าโลกมากขึ้น
จีนยังทุ่มเทกำลังในการให้การค้าต่างประเทศมีความสมดุลยิ่งขึ้น จากสถิติ การเกินดุลการค้าของจีนในปี 2009 ลดลง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2008 และลดลงอีก 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 คาดว่า การเกินดุลการค้าในปีนี้จะไม่เกิน 3% ของจีดีพี
3 ไตรมาสแรกปีนี้ อัตราเติบโตด้านการนำเข้าของจีนสูงกว่าการส่งออก 4% การเกินดุลการค้าลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว หรือ ลดลง 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว ซึ่งได้ส่งผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วง 5 ปีข้างหน้า มูลค่าการนำเข้าส่งออกของจีนจะเกิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับโลกมากขึ้น
เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการค้าที่จีนกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้นายปาสกาล ลามีผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกกล่าวว่า สำหรับสมาชิกองค์การการค้าโลก เมื่อมีการค้ามากขึ้น ก็ย่อมต้องมีข้อขัดแย้งทางการค้ามากขึ้นตามมาด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือ สมาชิกองค์การการค้าโลกต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และกฎระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าขององค์การการค้าโลก จีนสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าโดยพึ่งพาอาศัยองค์การการค้าโลก เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน
จีนยังเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม เริ่มตั้งแต่ปี 2010 จีนเริ่มลดหรืองดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้า 95% ที่นำเข้าจากประเทศด้อยพัฒนาที่สุดในทวีปแอฟริกา ได้ตั้งศูนย์แสดงสินค้าจากแอฟริกา และใช้มาตรการเพิ่มการนำเข้าจากแอฟริกาภายใน 3 ปี นี่เป็นเพียงมาตรการส่วนหนึ่งที่จีนใช้เท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่า จีนเร่งส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่เป็นธรรม และมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศรูปแบบใหม่
ช่วง 10 ปีมานี้ จีนมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการค้าระหว่างประเทศ เช่น จีนพยายามปกป้องประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาในระบบการค้าพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการการเจรจารอบโดฮา และเสริมการประสานด้านนโยบายกับประเทศพัฒนา โดยได้แสดงบทบาทสำคัญในช่วงสำคัญของการเจรจา เพื่อรักษาระบบการค้าพหุภาคี และขับเคลื่อนให้ระเบียบการค้าโลกพัฒนาสู่ทิศทางที่เป็นธรรม และเหมาะสมยิ่งขึ้น
นักเศรษญศาสตร์รัสเซียแสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯและประเทศยุโรปกุมลิขสิทธิ์ สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสินค้านิวไฮเทคส่วนใหญ่มาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ประเทศในเอเชียต้องตกอยู่ในฐานะที่เป็นโรงงานผลิตและแปรรูปสินค้าของโลก ส่วนประเทศอื่น กลายเป็นผู้ส่งออกทรัพยากรและวัตถุดิบ สภาวะการแบ่งสายงานการผลิตเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดการขัดแย้งชนิดต่างๆ การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนได้ส่งเสริมการแข่งขันที่ดีในตลาดสากล ได้เปลี่ยนสภาวะการแบ่งงานการผลิตในระดับหนึ่ง และส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจโลกพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจลักษณะหลายขั้ว
นักเศรษฐศาสตร์รัสเซียยังกล่าวว่า การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีนและทั่วโลก ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนต้องเข้าร่วมกระบวนการการค้าระหว่างประเทศ และต้องเข้าร่วมการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกทำให้เศรษฐกิจจีนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และยังส่งเสริมให้การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าโลกมีความสมดุลยิ่งขึ้นด้วย