เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า เนื่องจากเมียนมาร์มีความก้าวหน้าด้านการเลือกตั้งซ่อม และด้านอื่นๆ ของเมียนมาร์ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงกำลังอภิปรายกับรัฐสภาสหรัฐฯ และเพื่อนมิตรในเอเชีย และยุโรป เพื่อตอบสนองต่อความก้าวหน้าดังกล่าว
นางฮิลลารี คลินตันกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาเตรียมใช้มาตรการดังต่อไปนี้ หนึ่ง จัดส่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาไปยังเมียนมาร์เพื่อบรรลุข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง สอง จัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาประจำเมียนมาร์ สนับสนุนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติดำเนินโครงการอย่างเป็นปกติ สาม ส่งเสริมให้องค์การภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาดำเนินกิจการต่างๆ ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร เช่น การสร้างสรรค์ทางประชาธิปไตย สาธารณสุข และการศึกษา สี่ อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาเมียนมาร์บางคนในการเยือนสหรัฐอเมริกา และห้า เริ่มผ่อนคลายการห้ามการส่งออก และการลงทุนในกิจการการเงิน และการบริการของเมียนมาร์ แต่สำหรับบุคคล หรือองค์กรที่ไม่ยอมปฏิรูป ยังคงจะดำเนินการคว่ำบาตรต่อไป
นางฮิลลารี คลินตันยังเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์ปรับปรุงสภาพสิทธิมนุษยชนของเมียนมาร์ ซึ่งรวมถึงการปล่อยนักโทษการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และผลักดันกระบวนการปรับความเข้าใจกันภายในประเทศ เธอกล่าวว่า สหรัฐอเมริกายังคงจะให้แรงกดดันเพื่อให้เมียนมาร์หยุดความสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือ
ในช่วงระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาร์กับสหรัฐอเมริกาดำเนินไปอย่างไม่ปกติมาโดยตลอด สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรเมียนมาร์มาโดยตลอด จนกระทั่งนายบารัค โอบามาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2009 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้ปรับท่าทีและนโยบายที่มีต่อเมียนมาร์ โดยมีการเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์ ขณะเดียวกันก็ติดต่อกับฝ่ายค้านรัฐบาล นักวิเคราะห์สหรัฐอเมริกาบางคนระบุว่า สหรัฐอเมริกามุ่งที่จะเพิ่มบทบาทของอาเซียนในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคง และการค้าในภูมิภาค ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่แต่ละประเทศ
(Yim/cici)