สำหรับคำถามที่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไร นายจัง หวา กล่าวว่า บริเวณหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์เป็นแหล่งประมงของจีนมาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อเช้าวันที่ 10 เมษายน เรือประมงจีน 12 ลำถูกเรือรบฟิลิปปินส์ก่อกวน ขณะทำการประมง เหตุครั้งนี้ จีนได้ติดต่อกับฝ่ายฟิลิปปินส์แล้ว
นายจังหวากล่าวว่า จีนเห็นว่า หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ควรคงไว้ซึ่งสันติและความสงบ การทำประมงของชาวประมงไม่ควรถูกรบกวน จีนและฟิลิปปินส์เคยเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะนี้ แต่หลังการเจรจาหลายครั้ง สองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงที่จะไม่ใช้การกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ยุ่งยากซับซ้อนและขยายวง สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ จีนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำระดับต่างๆ หลายครั้ง รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ที่กรุงปักกิ่งและกรุงมะนิลา สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะปฏิบัติตามข้อตกลง และแก้ปัญหาโดยวิถีทางการทูต
นายจังหวากล่าวว่า เนื่องจากบริเวณเกิดเหตุมีทั้งเรือรบ เรือราชการและเรือประมง สภาพค่อนข้างซับซ้อน เรือประมงจีนจึงออกจากบริเวณหมู่เกาะหวงเหยียนเมื่อวันที่ 13 เมษายน เพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น แต่เรือฟิลิปปินส์ไม่ได้ออกจากบริเวณดังกล่าว จนถึงค่ำวันที่ 15 เมษายน ยังมีเรือต่างๆ ของฟิลิปปินส์ 20 กว่าลำ ที่น่าแปลกใจคือ มีเรือสำรวจทางโบราณคดีเข้าทะเลสาบหมู่เกาะหวงเหยียน เพื่อดำเนินการในข้ออ้าง "ขุดค้นทางโบราณคดี" โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลิปปินส์หลายคนบนเรือ ซึ่งไม่เพียงเป็นการทำลายประโยชน์ของจีน แต่ยังเป็นการกระทำผิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง การกระทำของฟิลิปปินส์ ทำให้จีนเป็นห่วงสถานการณ์อย่างมาก
สำหรับคำถามว่า "ฟิลิปปินส์ระบุมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์" นายจัง หวา กล่าวว่า หมู่เกาะดังกล่าวเป็นดินแดนของจีนมาตั้งแต่โบราณกาล จีนพบและเป็นผู้ตั้งชื่อหมู่เกาะหวงเหยียน หรือหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ก่อนใคร ดำเนินการบริหารหมู่เกาะ ซึ่งขอบเขตดินแดนของฟิลิปปินส์กำหนดมาแล้วโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ เช่น "สนธิสัญญาปารีส" ระหว่างสหรัฐฯ และสเปนในปี 1898 "สนธิสัญญาวอชิงตัน" ระหว่างสหรัฐฯ และสเปนในปี 1900 และ "สนธิสัญญาอังกฤษ-สหรัฐฯ" ปี 1930 ซึ่งไม่มีฉบับใดๆ เกี่ยวข้องกับหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ หรือระบุว่าหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์เป็นดินแดนของฟิลิปปินส์เลย
In/Chu